Abstract:
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความบกพร่องของทักษะทางสังคมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของทักษะทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาในแบบผู้ป่วยนอกแผนกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ ความรุนแรงของโรคซึมเศร้า ความพึงพอใจต่อการได้รับแรงสนับสนุนของครอบครัว ความภาคภูมิใจในตนเอง และประเภทบุคลิกภาพ
วิธีการศึกษา : ดำเนินการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาในแบบผู้ป่วยนอกแผนกจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทุกรายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและได้รับการวินิจฉัยจากอาจารย์จิตแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยจากคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 4 ฉบับปรับปรุงครั้งย่อย หรือ จากคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลัก หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือ โรคซึมเศร้า 2 ชนิดซ้อนทับกัน จำนวน 150 คน ใช้วิธีการเลือกสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงหรือแบบตามเกณฑ์ ผู้เข้าร่วมวิจัยต้องตอบแบบสอบถามรวมทั้งหมด 6 ชุด 160 ข้อ ด้วยตนเอง ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 10 ข้อ 2) แบบประเมินอาการซึมเศร้าฉบับภาษาไทย จำนวน 21 ข้อ 3) แบบสอบถามทักษะทางสังคม จำนวน 66 ข้อ 4) แบบสอบถามแอปการ์ของครอบครัว จำนวน 5 ข้อ 5) แบบวัดความภาคภูมิใจในตนเองของโรเซนเบิร์กฉบับปรับปรุง จำนวน 10 ข้อ และ 6) แบบทดสอบบุคลิกภาพ จำนวน 48 ข้อ นำเสนอความชุกของความบกพร่องของทักษะทางสังคม ข้อมูลส่วนบุคคล ประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ข้อมูลทักษะทางสังคม ความภาคภูมิใจในตนเอง บุคลิกภาพ และความพึงพอใจต่อครอบครัวในด้านต่าง ๆ เป็นค่าสัดส่วน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุดและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หลังจากนั้น ทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของทักษะทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ ในกรณีที่ข้อมูลเป็นเชิงลักษณะ และใช้สถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ในกรณีที่ข้อมูลเป็นเชิงปริมาณ หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์หาปัจจัยทำนายความบกพร่องทางทักษะทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยอาศัยการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติก โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่น้อยกว่า 0.05
ผลการศึกษา : ความชุกของความบกพร่องของทักษะทางสังคมในผู้ป่วยซึมเศร้าเท่ากับร้อยละ 46.7 คะแนนเฉลี่ย (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ของทักษะทางสังคมเท่ากับ 78.06 ± 16.47 ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความบกพร่องของทักษะทางสังคม ได้แก่ อายุที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี เพศหญิง (p<0.05) ความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงสูง ความพึงพอใจต่อการได้รับแรงสนับสนุนของครอบครัวในระดับต่ำถึงปานกลาง ระดับความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ บุคลิกภาพด้านพฤติกรรมแบบเก็บตัว และบุคลิกภาพด้านสภาวะทางอารมณ์แบบอ่อนไหว (p<0.01) ผลการวิเคราะห์ปัจจัยทำนายความบกพร่องของทักษะทางสังคมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ด้วยสถิติการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกส์แบบขั้นตอน พบว่า ปัจจัยทำนายความบกพร่องของทักษะทางสังคม ได้แก่ บุคลิกภาพด้านพฤติกรรมแบบเก็บตัว ความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรง และบุคลิกภาพด้านสภาวะทางอารมณ์แบบอ่อนไหว
สรุปผลการศึกษา : ความบกพร่องของทักษะทางสังคมค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 46.7 ในผู้ป่วยซึมเศร้า บุคลิกภาพแบบเก็บตัว ความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า และบุคลิกภาพแบบอ่อนไหว ส่งผลเสียต่อทักษะทางสังคมของผู้ป่วยอย่างมาก ซึ่งโปรแกรมเสริมทักษะทางสังคมอาจช่วยลดอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยได้