Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดใดจุดหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสามารถในการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของบุคลากรทางการแพทย์สูงอายุในโรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป จำนวน 285 คน คัดเลือกโดยการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิตามสัดส่วนของแต่ละกลุ่มอาชีพ เครื่องมือที่ใช้คือแบบสอบถามดัชนีชี้วัดความสามารถในการทำงาน (Work ability index) ฉบับภาษาไทย และแบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการทำงาน ข้อมูลจะถูกวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณาและการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกแบบเชิงชั้น
ผลการวิจัย พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับความสามารถในการทำงานอยู่ในระดับดี จำนวน 166 คน (ร้อยละ 58.2) และดัชนีชี้วัดความสามารถในการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 38.8 คะแนน (SD = 4.50) และโดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ ได้แก่ เคยมีประวัติการสูบบุหรี่ (ORadj = 11.43, 95% CI = 1.78 – 73.36) มีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดีในด้านการยศาสตร์ (ORadj = 4.22, 95% CI = 1.80 – 9.90) กลุ่มอาชีพแพทย์ (ORadj = 12.36, 95% CI = 2.15 – 71.00) มีความขัดแย้งกันกับบุคคลในครอบครัว (ORadj = 2.63, 95% CI = 1.14 – 6.06) เพศชาย (ORadj = 0.06, 95% CI = 0.01 - 0.32) ระดับการศึกษาสูงสุดสูงกว่าปริญญาตรี (ORadj = 0.37, 95% CI = 0.14 – 0.93) และรายได้ต่อเดือนมากกว่าทุก 1 พันบาท (ORadj = 0.95, 95% CI = 0.92 – 0.99) ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับปัญหาบุคลากรทางการแพทย์สูงอายุ เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานให้ดีขึ้น โดยอาจมีมาตรการป้องกัน รับมือ หรือจัดการกับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์สูงอายุ เช่น จัดโครงการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านการยศาสตร์ เป็นต้น