Abstract:
ที่มา : ภาวะหัวใจเต้นเร็วจากการหมุนเวียนไฟฟ้าภายในต่อมอะตริโอเวนตริคูลาร์ หรือภาวะ atrioventricular nodal reentrant tachycardia (AVNRT) พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ในปัจจุบันทางเลือกหลักของการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำคือการจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ จุดประสงค์ของการศึกษานี้ เพื่อต้องการศึกษาลักษณะของผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการ และอัตราการเกิดซ้ำของภาวะ AVNRT ภายหลังการรักษาด้วยวิธีจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ และมีการศึกษาตัวแปรต่างๆ ที่อาจพยากรณ์การเกิดซ้ำของภาวะ AVNRT ในอนาคต
วิธีการวิจัย : เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา รวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยอายุมากกว่า 18 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะ typical AVNRT จากการรตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 จนถึง พ.ศ. 2560 เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลจากการทำหัตถการ การเกิดภาวะแทรกซ้อน และข้อมูลการเกิดซ้ำของภาวะ AVNRT จากเวชระเบียน ศึกษาตัวแปรที่อาจพยากรณ์การเกิดซ้ำของโรค โดย univariate regression analysis
ผลการศึกษา : หัตถการการจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุสำหรับภาวะ typical ANRT มีอัตราความสำเร็จ 99.2% โดยในผู้ที่ได้รับการทำหัตถการสำเร็จ 226 คน เป็นผู้หญิง 154 คน (68.1%) อายุเฉลี่ย 47.2 ปี พบภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย 9 คน (4.0%) พบผู้ป่วยที่มีการเกิดซ้ำของภาวะ AVNRT จำนวน 19 คน (8.4%) จาก univariate regression analysis พบว่าการที่ไม่พบ junctional rhythm ขณะการทำหัตถการ, การพบ dual AV node physiology ภายหลังการทำหัตถการ, และการพบ single echo beat ภายหลังการทำหัตถการ สัมพันธ์กับการเกิดซ้ำของภาวะ AVNRT ที่มากขึ้น (p<0.05)
สรุปผล : หัตถการการจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุสำหรับภาวะ typical ANRT มีอัตราความสำเร็จสูงและปลอดภัย การที่ไม่พบ junctional rhythm ขณะการทำหัตถการ, การพบ dual AV node physiology ภายหลังการทำหัตถการ, และการพบ single echo beat ภายหลังการทำหัตถการ สัมพันธ์กับการเกิดซ้ำของภาวะ AVNRT ที่มากขึ้น