Abstract:
ที่มาและความสำคัญ: การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านทางสายสวนเป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรงและมีอาการที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูง หัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวเป็นการปรับตัวตอบสนองต่อแรงต้านทานที่สูงจากลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบและอาจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวอย่างไรก็ดีผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวเนื่องจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ภาวะผังผืดกล้ามเนื้อหัวใจ การศึกษานี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวกับอัตราการเสียชีวิตหลังเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านทางสายสวน
ระเบียบวิธีวิจัย: ผู้ป่วยทุกรายที่เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านทางสายสวนที่รพ.จุฬาลงกรณ์ในพุทธศักราช 2543-2562 ถูกคัดเข้าการศึกษา ใช้การวิเคราะห์ Kaplan-Meier analysis เปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตหลังเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านทางสายสวนระหว่างกลุ่มที่พบและไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวโดยเกณฑ์วินิจฉัยคลื่นไฟฟ้าหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวของ Peguero-Lo Presti รวมถึงเปรียบเทียบอัตราการนอนโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจล้มเหลว อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางโรคหัวใจและหลอดเลือดรุนแรงระหว่างผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม
ผลการศึกษา: จากผู้ป่วยทั้งหมด 156 รายที่ถูกคัดเข้าการศึกษา 22 รายถูกคัดออกเพราะภาวะการปิดกั้นทางเดินไฟฟ้าของหัวใจห้องล่างทางซ้ายหรือทางขวาอย่างสมบูรณ์(complete left/right bundle branch block)หรือขาดการตรวจติดตาม อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยทั้งหมดเท่ากับ 82.3 ปีและเป็นเพศชายร้อยละ 42.5 เป็นกลุ่มที่พบและไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัว 81 และ 53 รายตามลำดับ กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่พบภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวตามเกณฑ์ของ Peguero Lo-Presti สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อัตราส่วนความเสี่ยงอันตราย(hazard ratio; HR) 2.029 ช่วงความเชื่อมัน 95% (95% CI) 1.122-3.670 (p-value = 0.019) และพบอัตราการนอนโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจล้มเหลวที่สูงกว่า (HR=2.14, 95%CI: 1.02-2.80, p = 0.017) และอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางโรคหัวใจและหลอดเลือดรุนแรงที่สูงกว่า (HR =1.79 , 95%CI=1.0-2.9, p = 0.023)
สรุปผลการศึกษา: การไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวโดยเกณฑ์ Peguero Lo-Presti สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบอย่างรุนแรงและมีอาการหลังได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านทางสายสวน