Abstract:
การใช้แบบประเมินสโตรค ริสโกมิเตอร์ ในการพยากรณ์การหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงอิน
เทอร์นอลคาโรติดจากหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งตรวจพบโดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในกลุ่มประชากรไทยที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ที่ไม่เคยมีอาการและไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
ที่มาของการศึกษา การประยุกต์ใช้แบบประเมินความเสี่ยงโดยใช้แบบประเมินสโตรกริสโกมิเตอร์ (stroke riskometer) แทนการตรวจการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงอินเทอร์นอลคาโรติดจากหลอดเลือดแดงแข็งจากการตรวจด้วยการตรวจคลื่นความถี่สูง
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงอินเทอร์นอลคาโรติดจากหลอดเลือดแดงแข็งจากการตรวจด้วยการตรวจคลื่นความถี่สูง กับความเสี่ยงที่ประเมินได้จากแบบประเมินสโตรกริสโกมิเตอร์ (stroke riskometer)
วิธีการวิจัย การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวางในอาสาสมัครไทย อายุมากกว่า 45 ปี ที่ไม่เคยมีอาการและไม่เคยได้รับการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมีระดับความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดใน 10 ปี มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10 และกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงน้อยกว่าร้อยละ 10 ทั้งสองกลุ่มจะได้ตรวจคลื่นความถี่สูงบริเวณหลอดเลือดแดงคาโรติดเพื่อประเมินการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงอินเทอร์นอลคาโรติดจากหลอดเลือดแดงแข็ง
ผลการศึกษา อาสาสมัครทั้งหมด 169 ราย แบ่งเป็นกลุ่มความเสี่ยงสูง 87 ราย กลุ่มความเสี่ยงต่ำ 82 ราย พบการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงอินเทอร์นอลคาโรติดจากหลอดเลือดแดงแข็งร้อยละ 52.1 กลุ่มความเสี่ยงสูงพบร้อยละ 86.4 ต่างจากกลุ่มความเสี่ยงต่ำซึ่งพบร้อยละ 14.8 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มความเสี่ยงสูงมีปัจจัย อายุ สูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูงและได้รับยาลดความดันโลหิต โรคเบาหวาน มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจโต และมีปัญหาเรื่องความจำ หลังใช้สถิติการวิเคราะห์พหุตัวแปรพบว่า โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูงและได้รับยาลดความดันโลหิต หัวใจห้องล่างซ้ายโต การสูบบุหรี่ และความจำบกพร่อง มีความสัมพันธ์กับการตรวจพบการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงอินเทอร์นอลคาโรติดจากหลอดเลือดแดงแข็ง โดยการใช้ค่าความเสี่ยงที่มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10 ใน 10 ปี มีความไว (sensitivity) ร้อยละ 86.36 และ ความจำเพาะ (specificity) อยู่ที่ร้อยละ 85.1 ในการทำนายการตรวจพบการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดอินเทอร์นอลคาโรติดจากหลอดเลือดแดงแข็ง
สรุป การใช้แบบประเมินสโตรค ริสโกมิเตอร์ (stroke riskometer) สามารถนำมาใช้ในการทำนายการตรวจพบการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงอินเทอร์นอลคาโรติดจากหลอดเลือดแดงแข็งได้