Abstract:
ที่มาและความสำคัญ : ผู้ป่วยมะเร็งทางโลหิตวิทยาพบความผิดปกติของการกระตุ้นการแข็งตัวของเลือดได้บ่อย ทำให้เกิดปัญหาเลือดออกง่ายผิดปกติ หรือเลือดแข็งตัวผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการกระตุ้นปัจจัยการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติจากเซลล์มะเร็งเอง หรือเกิดจากการรักษาโดยยาเคมีบำบัด ซึ่งจากความผิดปกติดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนต่างๆในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ได้
วิธีการดำเนินงานวิจัย : ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย AML รายใหม่ทุกรายจะได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจ thrombin generation assay และค่าปัจจัยการแข็งตัวของเลือดต่างๆ ได้แก่ PT, aPTT, vWFAg, TFAg, D-dimer และคำนวณ DIC score และจะติดตามผลต่างๆระหว่างการรักษาจนจบการรักษา โดยมีการเปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่อยู่ในช่วงอายุเดียวกัน
Results: การศึกษานี้เริ่มทำการศึกษาผู้ป่วยตั้งแต่ มี.ค. 2562 ถึง เม.ย. 2563 พบผู้ป่วย AML 32 ราย ไม่พบความแตกต่างกันของค่า thrombin generation assay ของกลุ่มผู้ป่วยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เช่นเดียวกับค่า fibrinogen ที่ไม่พบความแตกต่างกันในสองกลุ่ม ค่า d-dimer และ TFAg มีค่าสูงกว่าในกลุ่มผู้ป่วย AML เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยยะสำคัญ พบผู้ป่วย 9 รายจาก 32 รายได้รับการวินิจฉัย overt disseminated intravascular coagulation (DIC) จากค่า ISTH-DIC score. เมื่อติดตามผู้ป่วยหลังจากการรักษาวันที่ 7, 30, 180 ตามลำดับ พบว่าค่า d-dimer ค่อยๆ ลดต่ำลงอย่างมีนัยยะสำคัญตามระยะเวลาของการรักษา ผู้ป่วย 13 ราย (ร้อยละ 40) มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ณ ช่วงเวลาที่ได้รับการวินิจฉัย อย่างไรก็ตามไม่พบแตกต่างของค่า endogenous thrombin potential และ peak thrombin generation ในกลุ่มที่มีเลือดออกผิดปกติและกลุ่มที่ไม่มีเลือดออก โดยพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีเลือดออกมีค่ามัธยฐานของเกล็ดเลือดที่ต่ำว่ากลุ่มที่ไม่มีเลือดออก ในขณะที่ค่า d-dimer สูงกว่าในกลุ่มที่มีเลือดออกด้วยเช่นกัน โดยบริเวณที่เกิดเลือดออกในผู้ป่วยกลุ่มนี้มากที่สุดได้แก่ ในช่องปากและเหงือก ในการศึกษานี้ไม่พบผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
สรุปผล : ไม่พบความผิดปกติของ thrombin generation assay ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วย AML มีค่า d-dimer ที่สูงกว่ากลุ่มควบคุม และมีแนวโน้มลดต่ำลงหลังได้รับการรักษา ซึ่งอาจสัมพันธ์กับภาวะ DIC