Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการใช้ระบบติดตามทางไกลร่วมกับการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันต่อเนื่องในการเพิ่มชั่วโมงการใช้งานเครื่องต่อคืนและเพิ่มความร่วมมือในการรักษาในผู้ป่วยชาวเอเชียที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับปานกลางถึงรุนแรง
วิธีการวิจัย รวบรวมชาวเอเชียวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีถึง 70 ปี และได้รับการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยสุ่มผู้ป่วยเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 30 ราย ได้แก่กลุ่มที่ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่องที่มีระบบติดตามทางไกล (กลุ่มทดลอง) และกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ (กลุ่มควบคุม) ผลลัพธ์หลักคือจำนวนชั่วโมงใช้งานเครื่องต่อคืนเมื่อติดตามสี่สัปดาห์
ผลการศึกษา ร้อยละเจ็ดสิบของอาสาสมัครเป็นเพศชายและมีค่าดัชนีหยุดหายใจเฉลี่ยที่ 50.3 ครั้งต่อชั่วโมง จำนวนชั่วโมงการใช้งานเครื่องต่อคืนโดยเฉลี่ยที่สี่สัปดาห์สูงกว่าแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มทดลอง (5.16 ±1.47 ชั่วโมงต่อคืนในกลุ่มทดลองและ 4.42 ±1.91 ชั่วโมงต่อคืน ในกลุ่มควบคุม ค่า p-value = 0.1ๅ) อัตราส่วนของอาสาสมัครที่ให้ความร่วมมือในการรักษาสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มทดลอง (ร้อยละ 64.2 ในกลุ่มทดลองและร้อยละ 34.4 ในกลุ่มควบคุม ค่า p-value = 0.03) ค่ามัธยฐานของปริมาณลมรั่วน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มทดลอง (5.1 ± 3.4 ลิตรต่อนาทีในกลุ่มทดลอง 10.0 ± 8.7 ลิตรต่อนาทีในกลุ่มควบคุม ค่า p-value = 0.018) การใช้ระบบติดตามทางไกลทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้นโดยมีค่ามัธยฐานของคะแนนดีขึ้น 3 ± 4 คะแนน กลุ่มควบคุมมีคะแนนดีขึ้น 1 ± 3 คะแนน (p-value = 0.02) คะแนนความง่วงนอนตอนกลางวันและภาวะแทรกซ้อนจากใช้เครื่องไม่มีความแตกต่างกันระหว่างสองกลุ่ม
สรุป การใช้ระบบติดตามทางไกลที่ผู้ป่วยชาวเอเชียที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น สามารถเพิ่มจำนวนชั่วโมงการใช้งานต่อคืน และสามารถเพิ่มความร่วมมือในการรักษารวมถึงคุณภาพการนอนหลับ