Abstract:
Background : โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประชากรทั่วโลกผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมองทำให้เกิดการพิการและยังเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณภาพการนอนหลับและการใช้เครื่องมือ Wearable tracker ในการเก็บข้อมูลการนอนหลับของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive Studies) ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross sectional descriptive design) กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่มกราคม ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2563 จำนวน 66 คน โดยผู้วิจัยบันทึกข้อมูลแบบสอบถามจากผู้ป่วยในส่วนของข้อมูลทั่วไป ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลด้านการเจ็บป่วย หลังจากนั้นนําอุปกรณ์วัดระดับกิจกรรม Wearable tracker ใส่ให้ผู้ป่วยและทำแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ (PSQI) ให้ครบถ้วนโดยใส่ตลอดเวลา นำเสนอข้อมูลคุณภาพการนอนหลับและการใช้เครื่องมือ Wearable tracker เป็นค่าคะแนน วิเคราะห์หาระดับความพึงพอใจของเครื่องมือ Wearable tracker และวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับปัจจัยต่าง ๆ ผลการศึกษา พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร้อยละ 93.9 มีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี และร้อยละ 6.1 มีคุณภาพการนอนหลับที่ดี ตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพการนอนหลับ (PSQI) ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการนอนหลับประกอบด้วย ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ ระดับปริญญาตรีขึ้นไป (p = 0.003) ซึ่งมีค่านัยสำคัญทางสถิติ P < 0.01 เวลาที่ผู้ป่วยได้เข้านอนทั้งหมด (p = 0.021) เวลาที่เข้านอน หลังจาก 00:00 น. (p = 0.014) เวลาที่ตื่นนอน 04:00 – 06:00 น. (p = 0.012) และเวลาที่หลับลึก (p = 0.039) มีนัยสำคัญทางสถิติ < 0.05 และปัจจัยด้านการเจ็บป่วย ได้แก่ ระยะเวลาที่ป่วยมากกว่า 1 สัปดาห์ (p = 0.032) และการใช้ยา Antidiabetic (p = 0.024) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ < 0.05 และจากศึกษาการใช้เครื่องมือ Wearable tracker ในการเก็บข้อมูลพบว่า ปัจจัยที่วัดได้จากอุปกรณ์วัดระดับกิจกรรม Wearable tracker ได้แก่ เวลานอนทั้งหมด (p = 0.032) เวลาที่เข้านอน มากกว่า 00.00 น. (p = 0.032) เวลาที่ตื่นนอน 04.00 - 06.00 น. P = 0.032) เวลาที่ตื่นนอน มากกว่า 06.00 น. (p = 0.032) และเวลาที่หลับลึก (p = 0.032) มีผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ < 0.05 สรุป ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร้อยละ 93.9 มีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการนอนหลับ ประกอบด้วย ปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยด้านการเจ็บป่วย นอกจากนั้นจากศึกษาการใช้เครื่องมือ Wearable tracker ในการเก็บข้อมูลพบว่า ปัจจัยที่วัดได้จากอุปกรณ์วัดระดับกิจกรรม Wearable tracker ก็มีผลที่มีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์วัดระดับกิจกรรม Wearable tracker สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการหาคุณภาพการนอนหลับได้