Abstract:
เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive Studies) ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross sectional descriptive design) กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคจิตเภทที่มารับการอุปการะในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถี (ชาย) จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่เดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2562 จำนวน 319 ราย โดยผู้วิจัยบันทึกข้อมูลจากแฟ้มประวัติและสอบถามจากผู้ดูแลในส่วนของข้อมูลทั่วไป ประวัติการเจ็บป่วย และสาเหตุที่เข้ารับการอุปการะ จากนั้นให้อาสาสมัครทุกคนตอบแบบสอบถามต่อทั้งหมดอีก 2 ชุด ได้แก่ 1) แบบประเมินอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยจิตเภท (The Thai version of Calgary Depression Scale of Schizophrenia; CDSS) และ 2) แบบประเมินอาการผู้ป่วยโรคจิตเภท (The positive and negative syndrome scale for schizophrenia; PANSS) นำเสนอข้อมูลภาวะซึมเศร้าเป็นค่าคะแนน วิเคราะห์หาค่าความชุกและความสัมพันธ์ภาวะซึมเศร้ากับปัจจัยต่างๆ
ผลการศึกษา ผู้ป่วยโรคจิตเภทจำนวน 319 ราย ส่วนใหญ่มีอายุในช่วง 40-59 ปี มีอายุเฉลี่ย 48.91 ปี พบความชุกของภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคจิตเภทในสถานคุ้มครองทั้งหมด ร้อยละ39.5 ในผู้ป่วยกลุ่ม A พบภาวะซึมเศร้ามากที่สุดคือร้อยละ 57.1 รองลงมาคือผู้ป่วยกลุ่ม B พบภาวะซึมเศร้าร้อยละ 41.3 ส่วนผู้ป่วยกลุ่ม C นั้นไม่พบภาวะซึมเศร้า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้า ได้แก่ ประวัติการฆ่าตัวตาย พบภาวะซึมเศร้า 44 ราย (34.9%) OR 0.506 95% CI 0.276, 0.926 p-value 0.027, ผลข้างเคียงของยา พบภาวะซึมเศร้า 74 ราย (23.2%) OR 0.423 95% CI 0.236, 0.757 p-value 0.004, จำนวนครั้งที่ลืมรับประทานยาใน 1 สัปดาห์ 11 ราย (2.82%) OR 0.526 95% CI 0.300, 0.921 p-value 0.025, และอาการทางจิตในปัจจุบัน OR 0.982 95% CI 0.970, 0.994 p-value 0.003
สรุป ภาวะซึมเศร้าพบได้ ร้อยละ39.5 ของผู้ป่วยโรคจิตเภทในสถานคุ้มครอง และพบได้มากในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติการฆ่าตัวตาย มีผลข้างเคียงของยา มีการลืมรับประทานยาใน 1 สัปดาห์ และมีอาการทางจิตในปัจจุบัน