Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมคติชนเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ในสังคมไทยร่วมสมัย ศึกษาปัจจัยและบริบททางสังคมที่มีผลต่อพลวัตของ คติชน รวมทั้งวิเคราะห์พลวัตของคติชนและวิธีคิดในการนำคติชนมาใช้ในสังคมไทยร่วมสมัย ผู้วิจัยเก็บข้อมูลภาคสนามในช่วง พ.ศ. 2559-2562 ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และตรัง
ผลการศึกษาพบว่า บริบทสังคมนครศรีธรรมราช บริบทสังคมไทย และบริบทสังคมโลกเป็น “ปัจจัยเร่ง” ที่กระตุ้นให้มีการนำคติชนเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์มาใช้ในบริบทใหม่ ๆ ขณะที่ลักษณะเด่นของคติชนในเรื่องความชัดเจนและความคลุมเครือของตำนานพระบรมธาตุเจดีย์ รวมทั้ง
การผสมผสานคติการบูชาพระธาตุกับความเชื่อในท้องถิ่น เป็น “ปัจจัยเอื้อ” ต่อการเลือกนำส่วนใดส่วนหนึ่งของคติชนมาใช้ประโยชน์ เมื่อปัจจัยทั้งสองสอดรับกันจึงเกิดการนำคติชนในสังคมประเพณีมาปรับใช้ในสังคมปัจจุบันหลายลักษณะ ทั้งการสืบทอด การรื้อฟื้น การผลิตซ้ำ การประยุกต์ รวมถึงการตีความและสร้างความหมายใหม่ ทำให้เกิดคติชนเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์ ในสังคมไทยร่วมสมัยหลายประเภท ได้แก่ คติชนเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์ที่สืบทอดจากคติชนเดิม รื้อฟื้นจากคติชนเดิม ประยุกต์จากคติชนเดิม ผลิตซ้ำจากบางส่วนของคติชนเดิม และคติชนที่สร้างขึ้นใหม่
การนำคติชนเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์มาใช้ในบริบทใหม่ ๆ ดังกล่าว ส่งผลให้คติชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตในหลายมิติ
คือ คติชนเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์มีการนำเสนอผ่านกระบวนการวิชาการ มีการกลายเป็นสินค้าวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือในการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจและช่วยขยายความศรัทธาต่อพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งทำให้เกิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่ ตลอดจนเกิดศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ นอกจากนี้พลวัตของคติชนเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์ยังสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการนำคติชนมาใช้ในสังคมปัจจุบัน คือ การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้ที่มีความศรัทธาต่อพระบรมธาตุเจดีย์ การเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในภาคใต้ การดัดแปลงให้เป็นของท้องถิ่นและการอนุรักษ์เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย
การศึกษาครั้งนี้จึงทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับ “คติชนสร้างสรรค์” พระธาตุศึกษา และมรดกโลกศึกษาซึ่งจะเป็นแนวทางในการศึกษาการนำ
คติชนในสังคมประเพณีมาใช้ในบริบทใหม่ ๆ ในแง่ของการเป็น “คติชนสร้างสรรค์” การเปลี่ยนแปลงของคติการบูชาพระธาตุในสังคมไทยร่วมสมัย
และกระบวนการนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในเชิงคติชนวิทยา