Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า “เยอแนล” (Journal) รวมถึงพระนิพนธ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ งานเขียนของข้าราชการ และงานเขียนของราษฎรที่มีลักษณะสอดคล้องกับเยอแนลและเขียนขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมทั้งสิ้น 16 เรื่อง โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะเด่นและคุณค่าของตัวบทในฐานประเภทวรรณคดี ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเยอแนลเป็นประเภทวรรณคดีย่อย (subgenre) ของวรรณกรรมบันทึกการเดินทางของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรูปแบบเยอแนลมาจากงานประเภท journal ของตะวันตกโดยมีงานดั้งเดิมของไทยคือจดหมายเหตุและนิราศบันทึกการเดินทางเป็นพื้นฐานในการรับรูปแบบงานเขียนของต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีไทย นอกจากนี้บริบทสังคมในช่วงการขยายอิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยมก็เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เยอแนลเกิดขึ้นด้วย เยอแนลมีลักษณะสำคัญ 4 ประการที่จำแนกเยอแนลออกจากบันทึกการเดินทางกลุ่มอื่น จะขาดลักษณะข้อใดข้อหนึ่งไปมิได้ ได้แก่ 1.เป็นร้อยแก้วบันทึกการเดินทาง 2. นำเสนอเนื้อหาตามลำดับวันที่และเวลา 3. เกิดขึ้นจากเจตจำนงของปัจเจกบุคคล 4. มีจุดประสงค์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในบันทึกแก่ผู้อ่านทั่วไป เยอแนลมีลักษณะเด่นด้านเนื้อหาที่การนำเสนอความเป็นปัจเจกบุคคลผ่านการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและการแสดงอารมณ์ความรู้สึกอย่างเปิดเผย มีลักษณะเด่นด้านลีลาภาษาคือ ใช้ภาษานำเสนอภาพและความคิดด้วยวิธีการอธิบายขั้นตอนหรือวิธีการ การพรรณนารายละเอียด และการโน้มน้าวหรือจูงใจ เยอแนลมีคุณค่าสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ คุณค่าด้านวรรณคดี คุณค่าด้านความรู้ คุณค่าด้านการเมืองการปกครอง และคุณค่าด้านสังคมวัฒนธรรม