Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์หน้าที่ของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้ และกลไกทางภาษาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้ ผู้วิจัยแบ่งสมัยข้อมูลภาษาออกเป็น 5 ช่วงสมัย ได้แก่ ช่วงที่ 1 สมัยอยุธยา, ช่วงที่ 2 สมัยรัชกาลที่ 1–รัชกาลที่ 3, ช่วงที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 4–รัชกาลที่ 5, ช่วงที่ 4 สมัยรัชกาลที่ 6–รัชกาลที่ 8 และช่วงที่ 5 สมัยรัชกาลที่ 9-รัชกาลที่10 ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากเอกสารเฉพาะที่เป็นร้อยแก้วในทุกช่วงสมัยของการศึกษา โดยในขั้นตอนที่ 1 ผู้วิจัยใช้กรอบทดสอบคำบุพบท คำเชื่อมนาม และคำเชื่อมอนุพากย์ของวิจินตน์ ภาณุพงศ์ (2538) มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจำแนกคำเชื่อมออกจากคำชนิดอื่น ขั้นตอนที่ 2 ผู้วิจัยใช้เกณฑ์ความหมาย หากมีกรณีที่กรอบทดสอบในขั้นตอนที่ 1 ไม่สามารถจำแนกคำเชื่อมออกจากหมวดคำอื่นได้ ผลจากการใช้เกณฑ์ในขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 พบคำเชื่อมในข้อมูลทั้งสิ้น 119 คำ ลำดับถัดมา ในขั้นตอนที่ 3 ผู้วิจัยได้นำคำเชื่อมทั้งหมดมาจำแนกหมวดหน้าที่และหน้าที่ย่อย โดยประยุกต์ตามกรอบเกณฑ์ของนววรรณ พันธุเมธา (2554) เป็นแนวทางในการวิเคราะห์หมวดหน้าที่ของคำเชื่อม และใช้เกณฑ์ทางอรรถวากยสัมพันธ์อื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์หน้าที่ย่อยของคำเชื่อมในแต่ละหมวดหน้าที่ ผลการศึกษาหน้าที่ของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบันพบว่า จำนวนหมวดหน้าที่ของคำเชื่อมในแต่ละสมัยมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในสมัยอยุธยาปรากฏหมวดหน้าที่จำนวน 20 หมวดหน้าที่ ในสมัยรัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 3 และสมัยรัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5 ปรากฏ 19 หมวดหน้าที่ ในสมัยรัชกาลที่ 6-รัชกาลที่ 8 ปรากฏ 21 หมวดหน้าที่ และสมัยปัจจุบันปรากฏทั้งสิ้น 22 หมวดหน้าที่ เมื่อพิจารณาด้านการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้พบว่า คำเชื่อมมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเพิ่มหน้าที่ การสูญหน้าที่ และการคงหน้าที่ ทั้งนี้ กระบวนการทางภาษาที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคำเชื่อมในภาษาไทยถิ่นใต้ คือ การกลายเป็นคำไวยากรณ์ โดยกลไกสำคัญ ได้แก่ อุปลักษณ์ นามนัย และการวิเคราะห์ใหม่