Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาสำนวนภาษาในวรรณคดีไทยที่สันนิษฐานว่ามีที่มาจากวรรณคดีบาลีและสันสกฤต โดยใช้วรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยปัจจุบัน ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เป็นข้อมูลในการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า วรรณคดีไทยมีสำนวนภาษาบาลีเป็นจำนวนมาก และสำนวนภาษาสันสกฤตจำนวนหนึ่ง จำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ สำนวนไวยากรณ์ และสำนวนเนื้อหา กวีไทยรับสำนวนภาษาเหล่านี้มาใช้ 2 ลักษณะ ได้แก่ การแปลและการดัดแปลง เมื่อสำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาสู่วรรณคดีไทยแล้วได้คลี่คลายไปตามปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ขนบวรรณศิลป์และความคิดสร้างสรรค์ของกวีไทย ปริบทสังคมวัฒนธรรมไทย และสากลลักษณ์ของการรับอิทธิพลภาษาต่างประเทศและการแปล สำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตนับว่ามีความสำคัญต่อวัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของภาษาทำเนียบพิเศษ เป็นต้นเค้าของขนบการแต่งวรรณคดีไทยส่วนใหญ่และจารีตวรรณคดีไทยบางประเภท รวมทั้งเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีไทยขึ้นใหม่โดยไม่รู้สิ้นสุด โดยนัยนี้ สำนวนภาษาบาลีและสันสกฤตจึงสะท้อนให้เห็นว่า วัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีไทยมีลักษณะเป็นวัฒนธรรม ภารตานุวาท ซึ่งหมายความว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความเจริญงอกงามของภาษาและวรรณคดีไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการที่กวีไทยได้แปลและดัดแปลงสำนวนภาษาจากวรรณคดีภารตะ คือ บาลีและสันสกฤต แล้วนำมาสร้างสรรค์วรรณคดีไทยได้อย่างวิจิตรบรรจง