Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับภาพตัวแทนของบุคคลพ้นโทษในวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษในสื่อสาธารณะ ด้วยแนววาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ตามแนวภาษาศาสตร์ เก็บข้อมูลวาทกรรมที่มีเนื้อหากล่าวถึงบุคคลพ้นโทษในเชิงสนับสนุนจากสื่อที่เผยแพร่สู่สาธารณชนในวงกว้าง ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวัน 6 ชื่อฉบับ เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง วารสารราชทัณฑ์ และวีดิทัศน์รายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง โดยศึกษาข้อมูลที่เผยแพร่ในระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2560 ปี พ.ศ. 2553 เป็นปีที่กระทรวงยุติธรรมเริ่มนำแนวคิด “คืนคนดีสู่สังคม” มาใช้ในงานราชทัณฑ์ ผลการวิเคราะห์กลวิธีทางภาษาในการนำเสนอภาพตัวแทน พบกลวิธีทางภาษาได้แก่ การเลือกใช้คำหรือกลุ่มคำ การใช้ประโยคที่สัมพันธ์กันแบบเหตุ – ผล การใช้ประโยคที่สัมพันธ์กันแบบขัดแย้ง การใช้ประโยคที่สัมพันธ์กันแบบเงื่อนไข การใช้อุปลักษณ์ การใช้สำนวน การใช้มูลบท การใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ การใช้สหบท การใช้เสียงของบุคคลพ้นโทษ และ การให้รายละเอียด ภาพตัวแทนที่ประกอบสร้างจากกลวิธีทางภาษาเหล่านี้มีทั้งภาพตัวแทนด้านบวก ได้แก่ บุคคลพ้นโทษบางส่วนเป็นคนดีและไม่ได้กระทำผิดโดยสันดาน บุคคลพ้นโทษเป็นผู้ผ่านกระบวนการบำบัดฟื้นฟูอย่างดี บุคคลพ้นโทษเป็นผู้ที่ กลับตัวกลับใจเป็นคนดีแล้ว และบุคคลพ้นโทษบางส่วนเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ภาพตัวแทนด้านลบ ได้แก่ บุคคลพ้นโทษเป็นผู้มีประวัติการกระทำความผิดติดตัว บุคคลพ้นโทษคือคนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมีแนวโน้มจะ กระทำผิดซ้ำ และบุคคลพ้นโทษเป็นบุคคลที่น่าหวาดกลัวและมักสร้างความเดือดร้อนแก่สังคม และภาพตัวแทนที่มีหลายแง่มุม คือ บุคคลพ้นโทษเป็นผู้ด้อยโอกาสที่สังคมไม่ยอมรับและประสบปัญหาการดำเนินชีวิต เมื่อพิจารณาปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม พบว่างานราชทัณฑ์ไทย นโยบาย "คืนคนดีสู่สังคม" ปัญหาในกระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังและวาทกรรมข่าวเกี่ยวกับความล้มเหลวในการจัดการเรือนจำ ข้อจำกัดในด้านการประกอบอาชีพ อคติเดิมในสังคม วาทกรรมอื่นที่แข่งขันกับวาทกรรมสนับสนุนบุคคลพ้นโทษ แนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนา และแนวคิดเรื่อง ความเมตตากรุณา น่าจะมีอิทธิพลในการประกอบสร้างภาพตัวแทนบุคคลพ้นโทษ ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารกับสังคมเพื่อสนับสนุนบุคคลพ้นโทษยังพบรูปภาษาหลายลักษณะที่ประกอบสร้างภาพตัวแทนด้านลบไปพร้อมกันด้วยโดยที่ผู้ผลิตวาทกรรมอาจไม่รู้ตัวซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการตอกย้ำอคติเดิมในสังคม และอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบาย “คืนคนดีสู่สังคม” ความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของรูปภาษาเหล่านี้อาจนำไปสู่ การปรับปรุงวิธีการเลือกใช้ภาษาในการนำเสนอประเด็นการสนับสนุนบุคคลพ้นโทษ การสื่อสารอย่างรอบคอบและระมัดระวังน่าจะช่วยลดอคติที่มีต่อบุคคลพ้นโทษและสร้างการยอมรับบุคคลพ้นโทษได้มากขึ้น