Abstract:
วัจนกรรมการขู่เป็นวัจนกรรมที่ช่วยให้ผู้พูดบรรลุความต้องการของตน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคู่สนทนา จึงเป็นอีกวัจนกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีทางภาษา
ในการแสดงวัจนกรรมการขู่ กรณีศึกษาคู่สนทนาที่มีสถานภาพเท่ากัน และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลวิธีทางภาษาในการแสดงวัจนกรรมการขู่กับปัจจัยเพศของผู้พูด ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยได้มาจากคำตอบในแบบสอบถามชนิดเติมเต็มบทสนทนา จำนวน 200 คน และการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 30 คน รวมทั้งสิ้น 230 คน แนวคิดที่ใช้วิเคราะห์ ได้แก่ แนวคิดวัจนกรรม และความสุภาพ
ผลการวิจัยพบว่า เมื่อผู้พูดภาษาไทยตัดสินใจแสดงวัจนกรรมการขู่แล้ว ผู้พูดนิยมใช้กลวิธีที่ทำให้
การขู่สัมฤทธิ์ผลมากกว่าการรักษาความสัมพันธ์ ดังจะเห็นได้จากความถี่ของการเลือกใช้กลวิธีทางภาษาทั้ง 3 กลุ่มกลวิธี ได้แก่ 1) กลุ่มกลวิธีการทำให้คู่สนทนากลัวและ/หรือให้ทำตามสิ่งที่ผู้พูดต้องการ (ร้อยละ 73.27) 2) กลุ่มกลวิธีการแสดงความไม่พอใจ (ร้อยละ 18.80) และ 3) กลุ่มกลวิธีการพยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับคู่สนทนา (ร้อยละ 7.93) นอกจากนี้ผู้พูดภาษาไทยส่วนใหญ่เลือกใช้กลวิธีการทำให้คู่สนทนากลัวและ/หรือให้ทำตามสิ่งที่ผู้พูดต้องการเพียงกลุ่มกลวิธีเดียว อย่างไรก็ตามพบว่าในบางสถานการณ์ที่แสดงวัจนกรรมการขู่ ผู้พูดยังคงคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง
ผู้พูดกับคู่สนทนา ส่งผลให้พบการเลือกใช้กลวิธีทางภาษาที่มีลักษณะเป็นการขู่และปลอบในคราวเดียวกันซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้วัจนกรรมการขู่ของผู้พูดภาษาไทยยังสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม 2 ประการ คือ แนวคิดเรื่องหน้า และความเกรงใจ
เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างกลวิธีทางภาษากับปัจจัยเพศของผู้พูด โดยใช้การทดสอบทางสถิติ
t – test for correlate sample ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 ด้านการเลือกแสดงและไม่แสดงวัจนกรรม
การขู่พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้พูดเพศชาย และเพศหญิงส่วนใหญ่เลือกไม่แสดงวัจนกรรมการขู่มากกว่า
การแสดงวัจนกรรม ส่วนด้านกลวิธีทางภาษาที่ใช้แสดงวัจนกรรมการขู่พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้พูดเพศชายและเพศหญิงเลือกใช้กลวิธีทางภาษาทั้ง 3 กลุ่มกลวิธีโดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน