Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการจัดการและการส่งต่อผู้ป่วยเทมโพโรแมนดิบิวลาร์ดิสออเดอร์ (ทีเอ็มดี) ของทันตแพทย์ภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดในภาคกลาง
วัสดุและวิธีการ โดยส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ไปยังทันตแพทย์ภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในจังหวัดภาคกลางของประเทศไทยทั้งหมด 969 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา
ผลการศึกษา แบบสอบถามถูกส่งกลับทั้งหมด 522 ฉบับ (ร้อยละ 53.9) ซึ่งเป็นแบบสอบถามที่ใช้ได้ 502 ฉบับ (ร้อยละ 51.8) ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชาย 109 คน (ร้อยละ 21.7) และเพศหญิง 393 คน (ร้อยละ78.3) อายุ 23-59 ปี อายุเฉลี่ย 34.7 ปี ปฏิบัติงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และอื่น ๆ ใน 1 ปีที่ผ่านมาทันตแพทย์ 427 คน (ร้อยละ 85.1) พบผู้ป่วยทีเอ็มดีอย่างน้อย 1 คน และจัดการผู้ป่วยทีเอ็มดี 356 คน (ร้อยละ 70.9) โดยทันตแพทย์ส่วนใหญ่มักให้การจัดการโดยการให้ความรู้และวิธีปฏิบัติในการดูแลรักษาตนเองแก่ผู้ป่วย การใช้ยา และกายภาพบำบัด และทันตแพทย์น้อยกว่าร้อยละ 50 จัดการทีเอ็มดีโดยใช้เครื่องมือออร์โธพิดิกส์ และการรักษาด้านบดเคี้ยว ทันตแพทย์ที่จัดการทีเอ็มดีวินิจฉัยแยกประเภททีเอ็มดี 176 คน (ร้อยละ 49.4) ทันตแพทย์มักให้การจัดการทีเอ็มดีโดยการให้ความรู้และวิธีปฏิบัติในการดูแลรักษาตนเองแก่ผู้ป่วยในทีเอ็มดีทุกประเภท ใช้ยาในทีเอ็มดีภาวะปวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ข้อต่อขากรรไกรอักเสบ และทีเอ็มดีที่มีความผิดปกติทั้งกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร ให้กายภาพบำบัดในทีเอ็มดีภาวะปวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ทันตแพทย์มีแนวโน้มใช้เครื่องมือออร์โธพิดิกส์มากขึ้นในทีเอ็มดีภาวะแผ่นรองกระดูกข้อต่อขากรรไกรเคลื่อน และทีเอ็มดีที่มีความผิดปกติทั้งกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร และให้การรักษาด้านบดเคี้ยวมากขึ้นในทีเอ็มดีที่มีภาวะข้อต่อขากรรไกรอักเสบ และทีเอ็มดีที่มีความผิดปกติทั้งกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร ทันตแพทย์ที่ไม่จัดการผู้ป่วยทีเอ็มดีส่วนใหญ่ระบุว่าเนื่องจากขาดความรู้ และทักษะ ในจำนวนทันตแพทย์ที่พบผู้ป่วยเอ็มดีส่งต่อผู้ป่วยไปสถานบริการอื่น 298 คน (ร้อยละ 69.8) โดยระบุว่าเหตุผลว่าเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญมากที่สุด และส่งต่อผู้ป่วยไปยังคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มากที่สุด
สรุป ทันตแพทย์ภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดภาคกลางส่วนใหญ่มักพบ และจัดการผู้ป่วยทีเอ็มดี ทันตแพทย์มักให้การจัดการทีเอ็มดีด้วยวิธีที่อนุรักษ์และผันกลับได้ และเลือกวิธีการจัดการจำเพาะต่อทีเอ็มดีแต่ละประเภท และทันตแพทย์ส่วนใหญ่มักส่งต่อผู้ป่วยทีเอ็มดีไปยังสถานบริการอื่น