Abstract:
ศึกษาปัจจัยที่สนับสนุนให้มารดานอกสมรสตัดสินใจที่จะมีบุตร เพื่อสร้างความเข้าใจในโลกของมารดานอกสมรสในมุมมองของมารดานอกสมรส อีกทั้งเป็นการโต้แย้งภาพตายตัว (Stereotypes) ของสังคมที่มีความเชื่อว่ามารดานอกสมรสเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี ผู้หญิงใจง่าย ท้องก่อนแต่ง เป็นต้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวถือได้ว่า เป็นกระบวนการที่สังคมสร้างความเป็นอื่นให้กับมารดานอกสมรส รวมทั้งพิจารณาถึงกระบวนการปรับตัวและรับมือกับสภาพสังคม วัฒนธรรมที่มีค่านิยมทางเพศแฝงอยู่จากการรับรู้ และการให้ความหมายของมารดานอกสมรสเอง กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้คือ มารดานอกสมรสที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไปและมารดานอกสมรสที่คลอดบุตรแล้ว และพักอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง และบ้านพักเด็กและครอบครัว ราชเทวี กรุงเทพฯ โดยเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ในการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณได้ใช้วิธีวิจัยโดยอาศัยแบบสอบถามและการใช้ข้อมูลทุติยภูมิ ในส่วนการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยคือ การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เจาะลึก และการศึกษาประวัติชีวิต โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลทั้งหมด 2 ปี ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อของมารดานอกสมรสคือ ความผูกพันระหว่างมารดากับลูกในครรภ์ ศีลธรรม และความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว ส่วนปัจจัยที่ไม่มีอิทธิพลคือฐานะทางเศรษฐกิจและการได้รับบริการสังคม ในประเด็นการปรับตัวนั้นได้นำเอาแนวคิดของ Heyns มาวิเคราะห์กับกรณีมารดานอกสมรส พบว่าประสบการณ์ชีวิตของมารดานอกสมรสได้ก่อให้เกิดความเครียดและความคับข้องใจ ดังนั้นมารดานอกสมรสจึงต้องค้นหาวิธีการจัดการกับปัญหา เพื่อลดความเครียดและความคับข้องใจ หากบรรลุเป้าหมายจะนำมาสู่ความรู้สึกพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ เคารพตนเองและนับถือตนเอง มีจิตใจเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถปรับตัวสู่บทบาทความเป็นแม่ได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย นอกจากนี้มารดานอกสมรสยังเริ่มเปิดใจยอมรับตนเองและยอมรับคนรอบข้างมากยิ่งขึ้นส่งผลให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมย่อยขึ้นในกลุ่มของมารดานอกสมรส การสร้างวัฒนธรรมย่อยจะช่วยให้มารดานอกสมรส มีทัศนคติเชิงบวกต่อตนเองและคนอื่นดียิ่งขึ้น