Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงแนวคิด ทฤษฎี และวิธีการบังคับใช้กฎหมายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนชี้มูลความผิดทางวินัยกับผู้ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ควบคู่ไปกับหลักเกณฑ์ในการดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชา โดยนำทฤษฎีการตีความและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย และในต่างประเทศมาวิเคราะห์เข้ากับการไต่สวนชี้มูลความผิดทางวินัยนั้น
จากการศึกษาพบว่า กฎหมายว่าด้วยวินัยมีข้อบกพร่องในการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว กล่าวคือ กฎหมายว่าด้วยวินัยบางประเภทจะต้องทำการกล่าวหาก่อนพ้นจากตำแหน่ง มิเช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินการทางวินัยได้ แต่อีกประเภทหนึ่งคือ ไม่มีหลักเกณฑ์ในการดำเนินการทางวินัยใดๆ หากพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แม้ต่อมาในภายหลังจะมีการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว แต่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องในกฎหมายว่าด้วยวินัยในบางฉบับเท่านั้น ส่วนฉบับที่ไม่ได้แก้ไขจึงยังคงเป็นปัญหาในการดำเนินการทางวินัยที่สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับการไต่สวนชี้มูลความผิดทางวินัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยที่มีปัญหาเหล่านั้น นอกจากจะเป็นวิธีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับทฤษฎีการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อาจไต่สวนชี้มูลความผิดทางวินัยกับผู้ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ จนทำให้บุคคลนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดทางวินัยไปในที่สุด
ดังนั้น ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางการแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุ โดยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเฉพาะในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วเท่านั้น และให้มีมาตรฐานกลางในลักษณะเดียวกันกับ มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เพื่อให้ดำเนินการทางวินัยได้ภายใต้ความเท่าเทียมกันของกฎหมาย พร้อมกับแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ โดยแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ให้ใช้กฎหมายกลางด้วย เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีวิธีการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน มีประสิทธิภาพ เกิดความเท่าเทียม และในขณะเดียวกันก็เป็นการรักษาผลประโยชน์ของทางราชการด้วยเช่นกัน