Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งหาแนวทางในการปฏิรูปข้อบทการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมและข้อบทการคุ้มครองจากการโอนกิจการหรือการเวนคืนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนแบบทวิภาคีของไทย (BITs) เพื่อให้ไทยในฐานะที่เป็นรัฐผู้รับการลงทุนมีอำนาจในการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ภายใต้กรอบนโยบายว่าด้วยการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (IPFSD) ของ UNCTAD โดยความตกลงฯ ของไทยจำนวน 36 ฉบับได้บัญญัติข้อบทการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมไว้ 3 รูปแบบ คือ (1) ข้อบทที่ไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ ไว้ (28 ฉบับ) (2) ข้อบทบัญญัติที่พิจารณาถึงกฎหมายระหว่างประเทศ (3 ฉบับ) และ (3) ข้อบทบัญญัติที่กำหนดพันธกรณีไว้โดยเฉพาะ (5 ฉบับ) ส่วนข้อบทการคุ้มครองจากการโอนกิจการหรือการเวนคืนมีการบัญญัติข้อบทที่ให้พิจารณาถึงการเวนคืนทางอ้อมไว้ด้วยทุกฉบับ จากการศึกษาคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการพบว่า การบัญญัติข้อบทการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมในรูปแบบที่ไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ หรือที่พิจารณาถึงกฎหมายระหว่างประเทศไว้ และการบัญญัติข้อบทการคุ้มครองจากการโอนกิจการหรือการเวนคืนที่ไม่ได้มีการบัญญัติให้สิทธิแก่ประเทศผู้รับการลงทุนสามารถใช้อำนาจในการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศได้ไว้ ย่อมก่อให้เกิดการตีความข้อบทในเรื่องดังกล่าวของคณะอนุญาโตตุลาการอย่างกว้างขวางซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการที่รัฐผู้รับการลงทุนจะใช้สิทธิในการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
ผลการศึกษาพบว่า หากประเทศไทยในฐานะรัฐผู้รับการลงทุนใช้แนวทางดังต่อไปนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงการตีความที่ไม่คาดคิดหรือการตีความที่กว้างเกินไปของคณะอนุญาโตตุลาการได้ กล่าวคือ (1) การปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ควรกำหนดให้มีการร่วมกันตีความข้อบทการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับรัฐภาคีไปในแนวทางที่ว่า “รัฐผู้รับการลงทุนต้องให้การปฏิบัติต่อผู้ลงทุนหรือการลงทุนของต่างชาติอย่าง “เป็นธรรมและเท่าเทียม” หรือรัฐผู้รับการลงทุนมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมต่อนักลงทุนอย่างไร แต่ทั้งนี้ ก็ควรมีกลไกกำหนดให้มีการทบทวนพันธกรณีหรือเงื่อนไขกรณีต่าง ๆ ที่ได้มีการตีความร่วมกันไว้เป็นระยะ ๆ ไว้ด้วย (2) การคุ้มครองจากการโอนกิจการหรือการเวนคืน ควรกำหนดให้มีการร่วมกันตีความกำหนดหลักเกณฑ์หรือนิยามว่า การกระทำใดที่ถือว่าเป็นการเวนคืนทางอ้อมและการกระทำใดที่ไม่ถือว่าเป็นการเวนคืน นอกจากนั้น รัฐภาคีทั้งสองฝ่ายอาจจะมีการร่วมกันกำหนดกรอบหรือขอบเขตที่ใช้ในการพิจารณาถึงมาตรการที่อ้างว่ากระทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งไม่ต้องมีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ((non-compensable) เช่น มาตรการที่กระทำด้วยความสุจริต (good faith) และกระทำภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบธรรม (a legitimate public policy objectives) ทั้งจะต้องเป็นมาตรการที่ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติและเป็นมาตรการที่มีความเหมาะสม ดังนั้น การปฏิรูปข้อบทการให้การปฏิบัติและการคุ้มครองนักลงทุนให้มีความชัดเจนขึ้นโดยการร่วมกันตีความของรัฐภาคีจึงถือได้ว่าเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ไทยในฐานะรัฐผู้รับการลงทุนสามารถใช้สิทธิในการควบคุมการลงทุนได้ตามแนวทางของกรอบ IPFSD ของ UNCTAD ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด