Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาสิทธิในคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียม หรือที่เรียกว่า right to international recognition ในประเด็นสถานะทางกฎหมาย ระบอบกฎหมาย และลักษณะสำคัญของสิทธิดังกล่าว รวมถึงเขตอำนาจรัฐเหนือสิทธิดังกล่าว
ตามกฎหมายระหว่างประเทศ “อวกาศ (outer space)” เป็นพื้นที่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐ รวมถึงทรัพยากรในห้วงอวกาศนั้นไม่มีรัฐใดเป็นเจ้าของ และด้วยการที่คลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมถือเป็นทรัพยากรในอวกาศเช่นกัน ดังนั้น คลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมจึงเป็นทรัพยากรที่ไม่มีรัฐใดเป็นเจ้าของ และการที่คลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมถือเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในอวกาศ จึงมีกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวางหลักการในทรัพยากรดังกล่าวไว้เป็นกรณีเฉพาะในข้อบังคับวิทยุ ประกอบกับธรรมนูญสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเพื่อใช้บังคับและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกับรัฐภาคีทั้งปวงในการใช้ทรัพยากรดังกล่าว
จากหลักการดังกล่าว มีประเด็นที่บางประเทศได้พยายามกล่าวอ้างทรัพยากรคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมในห้วงอวกาศถือเป็นเขตพื้นที่ในดินแดนอาณาเขตของตน และเป็นสมบัติของชาติด้วย
สำหรับกรณีประเทศไทย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้วางหลักการให้รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของกฎหมายดังกล่าวว่ามีความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ และ เสนอแนะแนวทางที่จะส่งผลต่อแนวทางการวางนโยบายการบริหารจัดการภายในเกี่ยวกับคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่จะเข้ามาใช้และแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวให้มีลักษณะสอดคล้องกับหลักการและข้อปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศ