Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงกรอบความคิด ทฤษฎี และหลักการทั่วไปของการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครอง โดยศึกษาจากประเทศที่มีการรับรองสิทธิในการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองแก่คู่กรณี ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมนี และประเทศไทย
จากการศึกษาพบว่า หลักการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองของประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมนี และประเทศไทย มีเนื้อหาสาระที่สำคัญร่วมกันหลายประการ ได้แก่ เนื้อหาสาระ องค์ประกอบของการรับรองสิทธิ และข้อยกเว้นของหลักการโต้แย้งคัดค้าน โดยปัญหาที่พบจากการศึกษาในบริบทของประเทศไทย คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองยังไม่ตระหนักถึงการให้สิทธิในการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองแก่คู่กรณี และไม่มีแนวปฏิบัติกลางของแต่ละหน่วยงานทางปกครอง
ดังนั้น ปัญหาของการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองจึงควรมีการแก้ไขโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องตระหนักถึงการให้สิทธิในการโต้แย้งคัดค้านก่อนออกคำสั่งทางปกครองแก่คู่กรณีโดยเคร่งครัดให้มากยิ่งขึ้น และกำหนดแนวปฏิบัติกลางอันเป็นกระบวนการโต้แย้งคัดค้านสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ถูกกำหนดโดยผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งอาจมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมให้แตกต่างกันไป เพื่อให้สิทธิและเสรีภาพของคู่กรณีได้มีการรับรองและคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และในขณะเดียวกันก็เป็นการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองด้วยเช่นกัน