Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงมาตรการทางกฎหมายในการกำกับดูแลเนื้อหาการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ถูกสร้างและนำเข้าสู่ระบบโดยผู้ใช้งานบนสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากการแสดงคิดเห็นทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นความสนใจในการอภิปรายประเด็นสาธารณะ จนนำไปสู่การเชื่อมโยงความคิดของผู้คนจนสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนทางสังคมและการเมืองได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นดาบสองคมที่อาจเป็นเครื่องมือสร้างการสื่อสารในทางลบ ไปจนถึงการสร้างประเด็นเพื่อเน้นย้ำความแตกแยกทางความคิดให้มากขึ้นได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในหลายประเทศ จึงได้มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐสามารถดำเนินการบางประการอันมีผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่ในกรณีของรัฐบาลไทย โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบกลับใช้มาตรการทางกฎหมายดังกล่าวเพื่อควบคุม แทรกแซง และปิดกั้นข้อมูลรวมไปถึงการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ทำให้เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวได้ถูกทำให้เป็นกลไกในการใช้อำนาจรัฐเพื่อขจัดผู้มีความคิดเห็นต่างจากตน และเป็นเหตุให้รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยอาศัยช่องว่างความไม่ชัดเจนของถ้อยคำในบทบัญญัติและนโยบายของรัฐ มาเป็นเหตุผลในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงขอเสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการทางกฎหมาย ให้มีความชัดเจนในบทบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐในการใช้ดุลยพินิจที่มีผลต่อการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน ถึงความเหมาะสมต่อหลักการสิทธิและเสรีภาพอันรับรองไว้และตามหลักการที่กำหนดไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมไปถึงเสนอให้มีมาตรการบางประการเพื่อคุ้มครองผู้ใช้งานให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้การปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสิทธิเสรีภาพมากขึ้น