Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาแนวคำตัดสินขององค์การการค้าโลกในประเด็นความหมายของคำว่า Public Body ตามข้อ 1.1 (a)(1) ของความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ (WTO Agreement on Subsidies and Countervailing Measures) เนื่องจากความตกลงดังกล่าวไม่ได้กำหนดความหมายของถ้อยคำดังกล่าวเอาไว้ ตลอดจนศึกษาถึงกรณีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะในคดี US – Anti-Dumping and Countervailing Duties (China) ซึ่งมีประเด็นทางกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยว่า รัฐวิสาหกิจจีนที่ได้ให้การอุดหนุนเป็น Public Body ตามข้อ 1.1 (a)(1) ของความตกลงดังกล่าวหรือไม่
จากการศึกษาพบว่า แนวคำตัดสินของ WTO ที่นำมาปรับใช้กับการวินิจฉัยกรณีดังกล่าวข้างต้นคือหลัก Government Authority Approach ที่นิยามคำว่า Public Body เอาไว้ว่าหมายถึง หน่วยงานที่มีอำนาจรัฐ และมีการใช้อำนาจรัฐ ทั้งนี้ แม้ว่าหลักดังกล่าวจะสามารถนำมาปรับใช้กับปัญหาการอุดหนุนโดยรัฐวิสาหกิจจีนได้อยู่บ้างคือกรณีการอุดหนุนโดยธนาคารพาณิชย์ของรัฐของจีนก็ตาม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงกรณีปัญหาการอุดหนุนโดยรัฐวิสาหกิจจีนในกลุ่มทุนเข้มข้น (Capital Intensive State-Owned Enterprise) บางกลุ่ม เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนและมีเหตุผลเพียงพอที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐได้ใช้อำนาจรัฐเหนือการกระทำของหน่วยงานดังกล่าว จึงทำให้หน่วยงานดังกล่าวไม่เป็น Public Body ซึ่งทำให้มาตรการที่ใช้โดยรัฐวิสาหกิจจีนดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกตอบโต้ได้