Abstract:
การวิจัยนี้เป็นงานวิจัย 2 ปี มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลกระทบทางสังคมจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออกต่อชุมชนท้องถิ่น ประการแรก กระบวนการเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้น ศึกษาในท้องถิ่นแต่ก็อยู่ในบริบทของเศรษฐกิจสังคมของโลกและของประเทศ ประการที่สอง ต้องการศึกษาถึงผลกระทบทางสังคมในท้องถิ่นอันสืบเนื่องมากจากกระบวนการนั้น และประการที่สามเพื่อแสวงหาข้อสรุป และแนวทางศึกษา ตลอดจนแนวทางนโยบายต่อไป วิธีการศึกษา ใช้วิธีการศึกษาด้านเอกสารและการศึกษาภาคสนาม โดยในปีแรกเน้นการศึกษาเชิงเอกสาร และมีการลงศึกษาภาคสนามในพื้นที่อย่างกว้างๆ แต่ก็ลงศึกษาพื้นที่ทั้งใกล้และไกลจากนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อตรวจสอบและสังเกตผลกระทบในรูปแบบต่างๆ และในปีที่ 2 มีการคัดเลือกชุมชนหมู่บ้านในพื้นที่ลงศึกษาเป็นกรณีศึกษา โดยชุมชนหนึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรม และอีกชุมชนหนึ่งมีลักษณะเป็นชุมชนบางส่วนประกอบอาชีพประมง ข้อค้นพบ บริบทเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศและภูมิภาคนับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการเกิดของโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก กล่าวคือ ช่วงเศรษฐกิจผันผวน (2523-2528 ปี ปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกไม่เอื้อต่อการเริ่มต้นโครงการประกอบกับเศรษฐกิจภายในตกต่ำ ต่อมาเงื่อนไขปัจจัยระหว่างประเทศดีขึ้นโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างด้านอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากการเพิ่มค่าเงินเยน ทำให้มีการย้ายโรงงาน ฯลฯ ประกอบกับกระบวนการตัดสินใจด้านนโยบายของไทยปรับปรุงให้สอดคล้องนั้น แต่อย่างไรก็ดี สภาพการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งก็เป็นปัญหาอยู่บ้าง สำหรับชุมชนเกษตรกรรมที่เลือกศึกษานั้นพบว่า ประการแรก ผลกระทบระยะแรก ได้แก่ การซื้อขายที่ดิน การเปลี่ยนมือของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีมาก แม้เป็นเขตนอกนิคมอุตสาหกรรมก็ตาม แรงกดดันที่มีต่ออาชีพเกษตรกรรมเดิมจึงมีมาก ประการที่สอง ยังไม่มีแรงงานอพยพจากถิ่นอื่น มีแหล่งงานอุตสาหกรรมให้ทำในบริเวณไม่ไกลจากหมู่บ้าน ชาวบ้านแต่เดิมอยู่ในภาคเกษตรก็จะย้ายเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ประการที่สาม แม้ว่าพื้นที่บริเวณหมู่บ้านถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว ตามผังเมืองของจังหวัดระยองที่ผ่านมาปลูกพืชยูคาลิปตัส ป่าไม้แต่ในสภาพจริงๆ นั้นถูกทำลายหมดแล้ว และบางส่วนคาดว่าจะทำสนามกอล์ฟในอนาคต ประการที่สี่ เศรษฐกิจของหมู่บ้านที่ผ่านมาไม่แตกต่างกันมาก เพราะอยู่ในอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน ทำนา พอมีการขายที่ดินที่เคยทำการเกษตรบางส่วน และบางส่วนได้มีลูกหลานเข้าทำงานที่ในโรงงานอุตสาหกรรม แม้ว่าที่ได้ทำในนิคมอุตสาหกรรมจะมีไม่มากก็ตาม ทำให้ฐานทางเศรษฐกิจและสังคมเริ่มแตกต่างกันมากขึ้น ประการที่ห้า เริ่มมีผลกระทบต่อสังคมท้องถิ่นโดยผ่านผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ป่าชายเลนถูกบุกรุก น้ำเสียและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นและส่งกลิ่นรุนแรง น้ำฝนไม่สามารถบริโภคได้จะเพราะคราบน้ำมันจับอยู่เต็มไปหมด ประการที่หก ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับวัดยังคงตามเดิม คือ ชาวบ้านชุมชนผูกพันในฐานะเป็นสถาบันศาสนา แต่วัดเองยังมิได้ปรับตัวทันกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนักเช่นยังเรี่ยไรเงินเพื่อก่อสร้างวัดจนเกินความจำเป็น สำหรับบ้านประมงนั้น มีผลกระทบทางสังคมดังนี้ ประการแรก การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนมือกรรมสิทธิ์ที่ดินแม้มีไม่มากแต่ก็มีมากขึ้น มีแหล่งพักผ่อนท่องเที่ยวเกิดขึ้นและมีสนามกอล์ฟที่เกิดขึ้นใกล้ๆ ประการที่สอง เกิดการอพยพเข้ามาของแรงงานจากต่างถิ่น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเข้ามาทำงานก่อสร้างโรงแรมและคอนโดมิเนียมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยจะอาศัยอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เด็กๆ ซึ่งเป็นลูกของคนงานก่อสร้างเข้ามาเรียนในโรงเรียนวัด มีปัญหาการปรับตัวในโรงเรียน ประการที่สาม เนื่องจากมีความหลากหลายขึ้น ดังนั้นสิ่งแวดล้อมในบริเวณชุมชนเริ่มเลวลง สุขลักษณะไม่ดีโดยเฉพาะกรณีค่ายคนงานได้รับผลกระทบจากอากาศเป็นพิษ ควันเขม่าสีดำกระจายทั่วท้องฟ้าบริเวณที่อาศัย เด็กเล็กๆ ได้รับผลรุนแรงมากเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ส่วนผู้ใหญ่ยังไม่มีใครแสดงอาการ น้ำฝนบริโภคไม่ได้ต้องดื่มน้ำประปา สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ชายทะเลใกล้ๆ สกปรกมากขึ้นทุกวัน สารเคมีเป็นพิษก็มีในละแวกชุมชนนี้ ผลกระทบในระดับชุมชนเหล่านี้ โดยเฉพาะด้านมลภาวะปรากฏเป็นปัญหาเดือดร้อน และนับเป็นการทดสอบขีดความสามารถของกลไกและการจัดองค์กรการรองรับปัญหาได้ จุดอ่อนสำคัญได้แก่ ลักษณะกลไกที่เป็นภาพรวม และยังเป็นโครงสร้างที่รวมศูนย์อยู่มาก มิหนำซ้ำความเชื่อมโยงกับกลไกของชุมชนและท้องถิ่น ปัญหาที่เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากโครงการทั้งที่คาดหมายไว้และที่เกิดขึ้นจริงจึงมิได้มีการจัดการได้ดีเท่าที่ควร ในข้อเสนอแนะทางนโยบายและการศึกษาต่อไปนั้น ประการแรก มิติทางสังคมของนโยบายอุตสาหกรรมมีความสำคัญยิ่ง แม้จะมีการเตรียมการมาบ้างและอาจดีกว่าในกรณีที่มีนิคมอุตสาหกรรมภาคเอกชน แต่ยังขาดความใส่ใจจริงจังและขาดการประสานงาน ประการที่สอง การติดตามแก้ไขปัญหาผลกระทบสืบเนื่องยังไม่เข้มแข็ง ประการที่สาม การปรับปรุงองค์การและกลไกรองรับปัญหายังจำเป็นต้องเน้น โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ส่วนการศึกษาวิจัยในอนาคตน่าจะสนใจเชื่อมโยงการศึกษาที่มีฐานอยู่ในชุมชนท้องถิ่นควบคู่ไปกับการศึกษาเชิงนโยบายให้มากขึ้น