Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงปัญหาการบังคับค่าอากรที่ค้างชำระตามกฎหมายศุลกากรและแนวทางแก้ไข ตลอดจนศึกษาถึงการบังคับภาษีค้างตามกฎหมายภาษีและการบังคับค่าอากรที่ค้างชำระตามกฎหมายศุลกากรของต่างประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบและนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยต่อไป
ผลการศึกษาพบว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีมาตรการบังคับทางปกครองในเรื่องการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียอากรเช่นเดียวกับประมวลรัษฎากร พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กฎหมายศุลกากรของสาธารณรัฐเกาหลี และกฎหมายศุลกากรของประเทศญี่ปุ่น แต่ยังมีข้อแตกต่างในเรื่องการสืบทรัพย์สินของผู้ค้างชำระค่าอากร ทำให้กรมศุลกากรไม่สามารถบังคับใช้มาตรการดังกล่าวได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนี้พบว่ากระบวนการบังคับค่าอากรที่ค้างชำระของประเทศไทยยังมีปัญหาข้อกฎหมายและข้อปฏิบัติโดยเฉพาะในประเด็นการออกแบบแจ้งการประเมิน การออกกฎหมายลำดับรอง และการใช้สิทธิทางศาลและการบังคับคดีตามคำพิพากษา อันทำให้กระบวนการบังคับค่าอากรศุลกากรที่ค้างชำระไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขโดยแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำมาตรการในการบังคับภาษีอากรค้างตามกฎหมายภาษีอื่นมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้กรมศุลกากรสามารถจัดเก็บอากรที่ค้างชำระได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพสูงสุด