Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขอบเขตของความผิดฐานเหยียดหยามศาสนาตามประมวลกฎหมายอาญา โดยมุ่งศึกษาถึงอิทธิพลและแนวคิดในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าว นอกจากนั้นยังศึกษาเชิงเปรียบเทียบความผิดฐานดังกล่าวกับบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดหยามศาสนาในต่างประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ และเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการปรับปรุงกฎหมายในความผิดฐานเหยียดหยามศาสนา จากการศึกษาพบว่า ความผิดฐานเหยียดหยามศาสนาที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมาย อาญานั้น ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประมวลกฎหมายอาญาของสาธารณรัฐอินเดีย เนื่องจากเป็นต้นร่างของความผิดฐานดังกล่าวในยุคที่มีการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 อีกส่วนหนึ่งนั้นได้รับอิทธิพลมาจากทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของศาสนาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ส่งผลให้ขอบเขตของวัตถุแห่งการกระทำในความผิดฐานเหยียดหยามศาสนาจำกัดอยู่ที่วัตถุและสถานที่ในทางศาสนาเท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว ความผิดฐานดังกล่าวโดยเฉพาะในส่วนของพฤติการณ์ประกอบการกระทำเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนแน่นอนในตัวบทกฎหมาย อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาที่ต้องมีความชัดเจนและแน่นอน อีกทั้งความผิดฐานดังกล่าวในกฎหมายของต่างประเทศมุ่งที่จะเอาผิดแก่ผู้กระทำที่มีเจตนาพิเศษในความผิดฐานดังกล่าวทั้งสิ้น ในส่วนของบทกำหนดโทษตามความผิดฐานดังกล่าว ประเทศไทยมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ ซึ่งเป็นการจำกัดดุลพินิจของผู้พิพากษาที่จะพิพากษาความผิดดังกล่าวให้เกิดความเหมาะสมระหว่างการกระทำกับโทษที่ผู้กระทำควรจะได้รับ ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายของต่างประเทศที่ไม่มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงทำการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนของความผิดฐานเหยียดหยามศาสนาตามประมวลกฎหมายอาญา โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงในส่วนของพฤติการณ์ประกอบการกระทำ โดยเปลี่ยนมาเป็นเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความชัดเจนในตัวบทบัญญัติ อีกทั้งยังแก้ไขในส่วนของอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าวให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น