Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกำหนดความรับผิดบุคคลสองประเภท อันได้แก่ บุคคลผู้ใกล้ชิดกับเด็กหรือผู้เยาว์ และ บุคคลผู้มีอำนาจในองค์กรซึ่งดำเนินกิจกรรมเกี่ยวข้องกับเด็กหรือผู้เยาว์ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวนั้นรับรู้ถึงความเสี่ยงกรณีมีความเป็นไปได้อย่างมากที่เด็กหรือผู้เยาว์นั้นอาจจะตกเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดของบุคคลอื่น รวมทั้งศึกษาแนวคิดและเนื้อหาของมาตรการทางกฎหมายของต่างประเทศ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกามลรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์กประเทศนิวซีแลนด์ เครือรัฐออสเตรเลียรัฐวิกตอเรีย และรัฐนิวเซาท์เวลส์ เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบและเสนอแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อไป
จากการศึกษาพบว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหน้าที่ในการที่บุคคลใดจะต้องกระทำเพื่อปกป้องเด็กหรือผู้เยาว์จากความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายตามกฎหมายไทยนั้นปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา 2 มาตรา คือ ความผิดฐานทอดทิ้งเด็กตามมาตรา 306 และความผิดฐานทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งพาตนเองไม่ได้ตามมาตรา 307 แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองมาตรานี้ใช้บังคับเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงที่น่าจะเป็นอันตรายจากการกระทำที่เป็นการทอดทิ้งเท่านั้น เช่นนี้จึงไม่อาจปรับใช้กับกรณีที่เด็กหรือผู้เยาว์มีความเสี่ยงในการที่จะตกเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดในลักษณะอื่นได้ และในขั้นตอนที่เพียงแต่รับรู้ว่ามีความเสี่ยงเช่นว่านั้นหากบุคคลทั้งสองประเภทที่ได้กล่าวไปละเลยไม่ดำเนินการใดๆให้เหมาะสมเพื่อกำจัดความเสี่ยงให้พ้นไปจากตัวเด็กหรือผู้เยาว์ เช่นนี้บุคคลดังกล่าวไม่มีความรับผิดทั้งตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งในกรณีเดียวกันนี้เองตามกฎหมายของต่างประเทศได้มีการบัญญัติความรับผิดแก่บุคคลทั้งสองประเภทไว้โดยเฉพาะ โดยไม่ใช่แค่การคุ้มครองเด็กจากความเสี่ยงอันเกิดจากการทอดทิ้งเด็กเพียงอย่างเดียวเหมือนมาตรา 306 และ307เท่านั้น แต่เป็นการคุ้มครองความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการกระทำความผิดต่อเด็กโดยบุคคลอื่นด้วย ดังนั้นผู้เขียนจึงเสนอให้ประเทศไทยมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวเพื่อคุ้มครองเด็กจากความเสี่ยงที่จะตกเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของบุคคลอื่นเพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กต่อไป