Abstract:
ในปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณข้อพิพาททางการแพทย์ขึ้นสู่ศาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อคู่พิพาท และยังก่อให้เกิดผลกระทบทางกฎหมายและสังคม งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาทางกฎหมายในกรณีความรับผิดทางละเมิดทางการแพทย์ โดยมุ่งประเด็นการศึกษาในการจัดการข้อพิพาทเพื่อหาวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกที่เหมาะสมกับคดีความรับผิดทางละเมิดทางการแพทย์ในประเทศไทย จากการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกในกรณีความรับผิดทางละเมิดทางการแพทย์ ในประเทศอังกฤษ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสิงคโปร์ และสหภาพยุโรป โดยพิจารณาวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือก 4 วิธี ได้แก่ ระบบกองทุนชดเชย หรือระบบประกันภัยทางการแพทย์ (Compensation Systems or Medical Liability Insurance) การอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) การเจรจาต่อรอง (Negotiation) และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Mediation) พบว่า แนวคิดในเรื่องกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเชิงบังคับ (Mandatory Mediation) เป็นกระบวนการที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาปรับใช้ในประเทศไทย เพราะวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นวิธีการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคู่พิพาทได้ดี และประสบความสำเร็จสูงในต่างประเทศ นอกจากนี้ การบังคับให้คู่พิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นการกำหนดให้คู่พิพาทต้องผ่านขั้นตอนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนจึงสามารถที่จะดำเนินคดีในชั้นศาลได้ มีจุดประสงค์เพื่อให้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายมีโอกาสทำความเข้าใจในประเด็นข้อพิพาทที่มีผู้ไกล่เกลี่ยเป็นผู้ช่วยเหลือ หากคู่พิพาทสามารถทำความตกลงระงับข้อพิพาทกันได้ ส่งผลให้เป็นการลดต้นทุนทางด้านต่าง ๆ ที่เกิดจากการดำเนินคดีในชั้นศาล และรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่พิพาท ซึ่งจากการศึกษาพบว่า เป็นกระบวนการที่ได้นำมาใช้ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในมลรัฐเซาท์แคโรไลน่า และมลรัฐฟลอริด้าประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้คู่พิพาทต้องผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเสียก่อนภายในขอบเขตระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และมีหน่วยงานสำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในความรับผิดทางละเมิดทางการแพทย์ที่กำหนดให้มีผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและทางด้านการแพทย์ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการ และยังส่งผลให้คู่พิพาทสามารถเข้าใจถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงเพื่อร่วมกันหาข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกันที่คู่พิพาททั้งสองฝ่ายยอมรับ จึงประสบความสำเร็จในการยุติข้อพิพาทโดยเร็ว จึงเป็นกระบวนการที่มีความเหมาะสมในการปรับใช้ในกรณีความรับผิดทางละเมิดทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงทำการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทพ.ศ. 2562 กำหนดให้ความรับผิดทางละเมิดทางการแพทย์เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเชิงบังคับก่อนฟ้องคดีโดยการกำหนดระยะเวลาของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่แน่นอน และหน่วยงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีความเป็นกลางมีลักษณะเฉพาะในความรับผิดทางละเมิดทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและยุติธรรมยิ่งขึ้น