Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงบรรยายเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมแสวงหาบริการสุขภาพของบุคคลที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคคลที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จำนวน 122 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน จากผู้ที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 6 ส่วน คือ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามการรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วย 3) แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม 4) แบบวัดความวิตกกังวล 5) แบบสอบถามความกลัว และ 6) แบบสอบถามพฤติกรรมแสวงหาบริการสุขภาพของบุคคลที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ค่าความเที่ยงของเครื่องมือเท่ากับ .86, .89, .86, .87 และ .86 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการทดสอบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
1. บุคคลที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมแสวงหาบริการสุขภาพและการสนับสนุนทางสังคมอยู่ในระดับสูง (Mean = 31.31, SD = 4.93; Mean = 72.63, SD = 7.83 ตามลำดับ) ส่วนการรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยและความกลัวมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง (Mean = 74.66, SD = 17.03; Mean = 26.81, SD = 5.11 ตามลำดับ) และความวิตกกังวลมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ (Mean = 31.94, SD = 6.80)
2. การรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมแสวงหาบริการสุขภาพของบุคคลที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = .471, .327 ตามลำดับ) และความวิตกกังวลมีความสัมพันธ์ทางลบกับพฤติกรรมแสวงหาบริการสุขภาพของบุคคลที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.367)