Abstract:
การวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการสนับสนุนตามความต้องการของครอบครัวต่อความวิตกกังวลและความพึงพอใจของครอบครัวผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินโดยประยุกต์ใช้แนวคิดการตอบสนองความต้องการของครอบครัวผู้ป่วยวิกฤตของ มอลเตอร์และเลสเก กลุ่มตัวอย่างคือ ครอบครัวผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 30 คน คัดเลือกแบบเจาะจง โดยการจับคู่ให้มีลักษณะใกล้เคียงกันเรื่องเพศของครอบครัวและระดับความรุนแรงการบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ป่วย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบประเมินข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินความวิตกกังวล 3) แบบประเมินความพึงพอใจ และ4) แบบประเมินความต้องการ โดยมีค่าความเที่ยงเท่ากับ.93, .96, .93ตามลำดับ และเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ โปรแกรมการสนับสนุนตามความต้องการของครอบครัวผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและการวิเคราะห์สถิติที
ผลการวิจัยสรุปว่า
1) ค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลของครอบครัวหลังได้รับโปรแกรมการสนับสนุนตามความต้องการของครอบครัวต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการสนับสนุนตามความต้องการของครอบครัว อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
2) ค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลของครอบครัวหลังได้รับโปรแกรมการสนับสนุนตามความต้องการของครอบครัวต่ำกว่าหลังได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
3) คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจของครอบครัวหลังได้รับโปรแกรมการสนับสนุนตามความต้องการของครอบครัวสูงกว่ากลุ่มหลังได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการสนับสนุนตามความต้องการของครอบครัวสามารถตอบสนองตามความต้องการของครอบครัวผู้ป่วยได้มากขึ้นจึงส่งผลให้เกิดความพึงพอใจสูงขึ้นและลดความวิตกกังวลได้