Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบบรรยายเชิงความสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ กรุงเทพมหานคร 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ประสบการณ์การมีอาการ ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน พฤติกรรมการดูแลตนเอง และการสนับสนุนทางสังคมกับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ กรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า อายุ18-59 ปี จำนวน 135 คน ที่มารับบริการทำความสะอาดแผล ณ คลินิกศัลกรรม หอผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์การคัดเข้า เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินผลลัพธ์ทางคลินิก ประกอบด้วย ค่าระดับน้ำตาลสะสม ภาวะแทรกซ้อน และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า แบบสอบถามประสบการณ์การมีอาการ แบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลตนเอง และแบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม แบบสอบถามทั้งหมดผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และมีค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค เท่ากับ 0.77,0.72,0.77 และ 0.92 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสเปียร์แมน ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ดังนี้
1. คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ กรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับปานกลาง (Mean = 3.36, SD = 0.38)
2. พฤติกรรมการดูแลตนเองมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ประสบการณ์การมีอาการ ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด และการสนับสนุนทางสังคมไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า