Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ศึกษาแบบสองกลุ่มวัดผลสองครั้งก่อนและหลังการทดลอง เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติกวัยเรียนอาการรุนแรงก่อนและหลังได้รับการใช้สิ่งแวดล้อมบำบัด และ 2) เปรียบเทียบพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติกวัยเรียนอาการรุนแรงระหว่างกลุ่มที่ได้รับการใช้สิ่งแวดล้อมบำบัดกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กออทิสติกอาการรุนแรงอายุ 6-12 ปี และผู้ดูแลหลัก ที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยใน สถาบันราชานุกูล ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ได้รับการจับคู่ (Matched pair) และสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จำนวนกลุ่มละ 18 คู่ กลุ่มทดลองได้รับการใช้สิ่งแวดล้อมบำบัดสำหรับเด็กออทิสติกวัยเรียนอาการรุนแรง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ 1)แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลเด็กออทิสติกอาการรุนแรงและผู้ดูแลหลัก 2)แบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวเด็กออทิสติกอาการรุนแรง 3)แนวทางปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้สิ่งแวดล้อมบำบัดสำหรับเด็กออทิสติกวัยเรียนอาการรุนแรง 4)คู่มือการใช้สิ่งแวดล้อมบำบัดสำหรับเด็กออทิสติกวัยเรียนอาการรุนแรงสำหรับผู้ดูแล 5)แบบประเมินความสามารถการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าวที่บ้านของผู้ดูแล เครื่องมือทุกฉบับได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน และได้ค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคของแบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวเด็กออทิสติกอาการรุนแรงเท่ากับ .87 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยสำคัญ คือ
1) พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติกวัยเรียนอาการรุนแรงหลังการได้รับการใช้สิ่งแวดล้อมบำบัดจะลดลงกว่าก่อนได้รับการบำบัด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2) พฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติกวัยเรียนอาการรุนแรง กลุ่มที่ได้รับการใช้สิ่งแวดล้อมบำบัดลดลงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
การวิจัยนี้สรุปได้ว่าการใช้สิ่งแวดล้อมบำบัดในการพยาบาลเด็กออทิสติกอาการรุนแรงมีผลทำให้พฤติกรรมก้าวร้าวลดลงได้