Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ภาวะซึมเศร้าของผู้ต้องขังติดเมทแอมเฟตามีน และ 2) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรร ได้แก่ เพศ อายุ ประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประวัติดื่มแอลกอฮอล์ ระยะเวลาการต้องโทษ การเห็นคุณค่าในตนเอง การตีตราตนเอง การเผชิญความเครียด และการสนับสนุนทางสังคม กับภาวะซึมเศร้าของผู้ต้องขังติดเมทแอมเฟตามีน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ต้องขังติดเมทแอมเฟตามีนเพศชายและหญิง อายุ 18 - 59 ปี ซึ่งถูกดำเนินคดีเข้ามาอยู่ในความควบคุมของเรือนจำ/ทัณฑสถาน เขตภาคเหนือตอนบน โดยวิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 165 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) แบบคัดกรองสารเสพติด (V.2) 2) แบบประเมินอาการทางจิต (BPRS) 3) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 4) แบบสอบถามวัดการเผชิญความเครียด 5) แบบสอบถามวัดการเห็นคุณค่าในตนเอง 6) แบบสอบถามวัดการตีตราตนเอง 7) แบบสอบถามวัดการสนับสนุนทางสังคม และ 8) แบบประเมินภาวะซึมเศร้า (BDI-IA) เครื่องมือทุกชุดผ่านการตรวจความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน เครื่องมือชุดที่ 2 และ 4 - 8 มีค่าความเที่ยง สัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค เท่ากับ .82, .87, .86, .82, .83 และ .91 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยาย และทดสอบความสัมพันธ์ด้วยสถิติไคสแควร์ สหสัมพันธ์พอยท์ไบซีเรียล และสหสัมพันธ์เพียร์สัน สรุปผลการวิจัยได้ ดังนี้
1. ผู้ต้องขังติดเมทแอมเฟตามีนส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 33.9 มีภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาภาพรวมพบว่ามีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลาง มาก และรุนแรง สูงถึงร้อยละ 52
2. การเผชิญความเครียด แบบมุ่งจัดการกับปัญหาโดยใช้ความสามารถของตนเอง แบบมุ่งจัดการกับปัญหาโดยอาศัยแหล่งสนับสนุนอื่น ๆ และแบบหลีกเลี่ยงปัญหา มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของผู้ต้องขังติดเมทแอมเฟตามีน (c2= 94.23; p<.05)
3. ระยะเวลาการต้องโทษ และการตีตราตนเอง มีความสัมพันธ์ทางบวกกับภาวะซึมเศร้าของผู้ต้องขังติดเมทแอมเฟตามีน (r = .446 และ .340; p<.05 ตามลำดับ)
4. อายุ การเห็นคุณค่าในตนเอง และการสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์ทางลบกับภาวะซึมเศร้าของผู้ต้องขังติดเมทแอมเฟตามีน (r = -.292, -.404 และ -.396; p<.05 ตามลำดับ) ส่วน เพศ ประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประวัติดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของผู้ต้องขังติดเมทแอมเฟตามีน