Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของค่านิยมในการทำงาน และการรับรู้เวลาในอนาคตโดยค่านิยมในการทำงานแบ่งออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ ค่านิยมภายใน ค่านิยมภายนอก ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน และค่านิยมด้านการมีเกียรติที่มีต่อความตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพ ของผู้ใหญ่แรกเริ่ม จำนวน 278 คน มีอายุระหว่าง 18-29 ปี (อายุเฉลี่ย 26.5 ปี) ที่กำลังทำงานประจำ โดยร่วมงานกับบริษัทปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 2 ปี ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามออนไลน์ และจากรูปแบบเอกสาร โดยใช้สถิติการวิเคราะห์ข้อมูลแบบการถดถอยพหุคูณ (Multiple regression) ผลการวิจัยพบว่า ค่านิยมในการทำงานที่ประกอบด้วย ค่านิยมภายใน ค่านิยมภายนอก ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ค่านิยมด้านการมีเกียรติ และการรับรู้เวลาในอนาคตร่วมกันอธิบายความตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพได้ร้อยละ 23.9 และเมื่อปรับความคลาดเคลื่อนจะร่วมกันอธิบายความ ตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพได้ร้อยละ 22.5 โดยค่านิยมนอกงาน (β = -.233, p < .01) และความสัมพันธ์ในที่ทำงาน (β= -.196, p = .002) มีความสัมพันธ์ทางลบกับความตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการรับรู้เวลาในอนาคต (β= .138, p = .012) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความตั้งใจในการเปลี่ยนอาชีพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่แรกเริ่มมีแนวโน้มไม่คิดที่จะเปลี่ยนอาชีพ หากมีการรับรู้การทำงานที่ตอบสนองค่านิยมภายนอก (เช่น มีเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น สวัสดิการต่าง ๆ ดี เป็นต้น) และมีการรับรู้ความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน และหากบุคคลวัยนี้ให้ความสำคัญกับเวลาในอนาคต ก็จะมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนอาชีพ งานวิจัยนี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจพัฒนาการทางด้านอาชีพของบุคคลในวัยผู้ใหญ่แรกเริ่ม ซึ่งเป็นประโยชน์ในการช่วยให้บุคคลวัยนี้เข้าใจตนเอง และช่วยให้หน่วยงานเข้าใจความต้องการของผู้ที่อยู่ในวัยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การทำงาน