Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนบทบาท การเลี้ยงดูของพ่อแม่ และการรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ต่อวุฒิภาวะทางจิตสังคมในผู้ใหญ่แรกเริ่ม โดยการเปลี่ยนบทบาท ประกอบด้วย การสำเร็จการศึกษา การทำงาน ความสัมพันธ์ฉันคนรัก และการอาศัยอยู่ด้วยตนเอง การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ประกอบด้วย การให้ความอบอุ่นของพ่อแม่ และการให้อิสระของพ่อแม่ ส่วนการรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ ประกอบด้วย การรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ทางการเรียน การรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ทางอาชีพ และการรับรู้ความทะเยอทะยานของพ่อแม่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้ใหญ่แรกเริ่ม ที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี อายุเฉลี่ย 21.850 ปี จำนวน 510 คน ซึ่งดำเนินการวิจัยผ่านการตอบแบบสอบถามด้วยตนเองในรูปแบบออนไลน์ และวิเคราะห์สมการโครงสร้าง (SEM) ด้วยโปรแกรม LISREL 10.20 Student ผลการวิจัยพบว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่มีความสัมพันธ์ทางบวกต่อวุฒิภาวะทางจิตสังคม (β = 0.620, p < .01) ในขณะที่การเปลี่ยนบทบาทและการรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ไม่มีความสัมพันธ์ต่อวุฒิภาวะทางจิตสังคม ถือเป็นการเน้นย้ำได้ว่าสถาบันครอบครัวมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของลูก ดังนั้นพ่อแม่ยุคใหม่จึงควรให้ความสำคัญต่อการเลี้ยงดู กล่าวคือ หากพ่อแม่แสดงออกถึงการเอาใจใส่ ให้ความอบอุ่น และให้อิสระในการคิดหรือทำสิ่งต่าง ๆ แก่ลูก จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีวุฒิภาวะทางจิตสังคมสูงหรือมีการคิดตัดสินอย่างเป็นผู้ใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น งานวิจัยในอนาคตอาจนำไปพัฒนาต่อยอดในการศึกษาปัจจัยเพิ่มเติมที่ส่งผลต่อวุฒิภาวะทางจิตสังคม หรือทำวิจัยในรูปแบบผสมผสาน เพื่อช่วยขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับวุฒิภาวะทางจิตสังคมในบริบทไทยให้กว้างยิ่งขึ้น