Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่จําแนกระหว่างผู้ทํางานอาสาสมัครกับผู้ไม่ทํางานอาสาสมัครในกลุ่มนิสิตนักศึกษาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้เป็นนิสิตนักศึกษาทุกระดับชั้นที่มีอายุระหว่าง 19-30 ปี (M = 22.13 ปี, SD = 3.37) จำแนกตามการทำกิจกรรมอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ทำกิจกรรมอาสาสมัครในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 142 คน และผู้ไม่ทำกิจกรรมอาสาสมัครในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 120 คน ตัวแปรที่ศึกษาในการวิจัยประกอบด้วย การมีจุดมุ่งหมายในชีวิต ความเชื่อมั่นในศาสนา การจัดการความรู้สึกด้านลบ การสร้างคุณค่าให้กับสังคม การพัฒนาตนเองด้านการทำงาน การพัฒนาตนเองด้านการเรียนรู้และเข้าใจ การเห็นคุณค่าในตนเอง การพัฒนาตนเองด้านความสัมพันธ์ในสังคม และการมีต้นแบบจากพ่อ แม่ หรือเพื่อน ตัวแปรตามคือการเป็นอาสาสมัคร เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามความเชื่อมั่นในศาสนา แบบสอบถามการมีต้นแบบจากพ่อ แม่ หรือเพื่อนเป็นอาสาสมัคร แบบวัดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมอาสาสมัคร และแบบวัดการมีจุดมุ่งหมายในชีวิต ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีถดถอยโลจิสติก
ผลการวิจัยสามารถอธิบายความแปรปรวนของการเป็นอาสาสมัครได้ร้อยละ 17.8 โดยมีปัจจัยที่สามารถจำแนกการเป็นอาสาสมัครได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) 3 ประการได้แก่ ความเชื่อมั่นในศาสนา การมีต้นแบบจากพ่อ แม่ หรือเพื่อน และการมีจุดมุ่งหมายในชีวิต ทั้งนี้สมการถดถอยโลจิสติกสามารถทำนายการเป็นอาสาสมัครได้ร้อยละ 65.6