Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) รายงานสถานการณ์ของการรายงานภาวะมีบุตรยาก และ 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรายงานภาวะมีบุตรยาก ด้วยปัจจัยทางประชากร ปัจจัยอนามัยเจริญพันธุ์ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยสุขภาพ และปัจจัยของคู่สมรส ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีสถานภาพกำลังสมรสแต่ยังไม่เคยมีบุตรในประเทศไทย การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลการสำรวจระดับประเทศซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณจากการสำรวจของโครงการการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและความอยู่ดีมีสุขในบริบทสังคมสูงวัย ของวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินการจัดเก็บข้อมูลในเดือนมิถุนายนถึงกันยายม พ.ศ.2559 มีกลุ่มประชากรตัวอย่างเป็นสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 49 ปี โดยการศึกษาครั้งนี้คัดเลือกเฉพาะสตรีที่มีอายุระหว่าง 25 ถึง 49 ปี มีสถานภาพกำลังสมรสแต่ยังไม่เคยมีบุตร และมีข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ที่สมบูรณ์ทั้งหมด 548 ราย การวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษานี้ใช้การวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกทวิภาค (Binary Logistic Regression Analysis) โดยมีตัวแปรตามเป็นการรายงานภาวะมีบุตรยากของสตรี กำหนดให้ 0 แสดงถึงสตรีที่ไม่มีการรายงานภาวะมีบุตรยาก (กลุ่มอ้างอิง) 1 แสดงถึง สตรีที่รายงานภาวะมีบุตรยาก
ผลการศึกษาพบว่า สตรีมากกว่าครึ่ง คิดเป็นร้อยละ 51.5 รายงานภาวะมีบุตรยาก ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 35 ถึง 39 ปี โดยร้อยละ 61 ของสตรีกลุ่มนี้รายงานว่าตนเองมีบุตรยาก ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับการรายงานภาวะมีบุตรยากพบว่า ปัจจัยทางประชากร ได้แก่ อายุของสตรี จำนวนบุตรที่ปรารถนา ปัจจัยอนามัยเจริญพันธุ์ ได้แก่ การใช้การคุมกำเนิด การแท้ง ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ ระดับการศึกษาสตรี เขตที่อยู่อาศัย มีความสัมพันธ์กับการรายงายภาวะมีบุตรยากของสตรี