Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับบุตรและภาวะปัญหาทางสุขภาพจิต รวมไปถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลชั้นทุติยภูมิจากการสำรวจผู้สูงอายุภายใต้โครงการการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและความอยู่ดีมีสุขในบริบทสังคมสูงวัย พ.ศ. 2559 ซึ่งจัดทำโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้กำหนดกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่มีบุตรมีชีวิตอย่างน้อย 1 คน จำนวนทั้งสิ้น 4,812 คน สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์ถดถอยทวินามลบที่มีผลกระทบจากศูนย์
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า มีผู้สูงอายุราวร้อยละ 59.93 ที่รายงานว่าตนมีปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างน้อย 1 อาการ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้มีอาการโดยเฉลี่ยประมาณ 2.04 อาการ ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับบุตร พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ราวร้อยละ 88.32 มีความสัมพันธ์กับบุตรอยู่ในระดับดี โดยผู้สูงอายุร้อยละ 47.90 มีบุตรที่มีความสัมพันธ์กันดีมาก และร้อยละ 2.58 เท่านั้นที่มีบุตรที่มีความสัมพันธ์กันไม่ดีเลย จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับบุตรและภาวะปัญหาทางสุขภาพจิต ผลการศึกษา พบว่า ผู้สูงอายุเพศชายที่มีความสัมพันธ์กับบุตรในระดับดี และมีบุตรอย่างน้อย 1 คนที่มีความสัมพันธ์กันในระดับดีมาก มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับภาวะปัญหาทางสุขภาพจิต ในทุกแบบจำลอง ในขณะที่ ผู้สูงอายุเพศหญิงที่มีความสัมพันธ์กับบุตรในระดับดี มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับภาวะปัญหาทางสุขภาพจิต เฉพาะในแบบจำลองที่ 1 เท่านั้น เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะปัญหาทางสุขภาพจิต ภายหลังเพิ่มการควบคุมอิทธิพลของปัจจัยอื่น ๆ พบว่า ปัจจัยด้านสุขภาพ ได้แก่ การประเมินสุขภาพตนเอง และความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานและขั้นสูง และปัจจัยการเกื้อหนุนระหว่างรุ่น ได้แก่ รูปแบบการอยู่อาศัย การให้เงินแก่บุตร เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับบุตรและภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยด้านประชากรและสังคม ได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส การศึกษา เขตที่อยู่อาศัย ภูมิภาค ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ระดับรายได้ ความเพียงพอของรายได้ และปัจจัยด้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ได้แก่ การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะปัญหาทางสุขภาพจิต อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความแตกต่างไปตามเพศของผู้สูงอายุด้วย