Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ประวัติ แนวคิดและคุณค่าของนวนิยายเรื่อง เจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไล สร้างองค์ความรู้และการสร้างสรรค์บทและการประพันธ์ทำนองทางร้อง ดนตรีและกลวิธีการขับร้องสำหรับละครร้องโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและการสร้างสรรค์วิเคราะห์ข้อมูลตามหัวเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีการพรรณนาวิเคราะห์ นวนิยายเรื่องเจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไลประพันธ์โดยวรมัย กบิลสิงห์ระหว่างปี พ.ศ. 2495-2496 เชิดชูผู้นำที่เป็นวีรสตรีที่ปรากฏอยู่ในความพยายามพิสูจน์ตนเองของตัวละครเพื่อต้องการสื่อสารด้านความหลากหลายทางเพศที่เกินขอบข่ายพื้นที่ตามโครงสร้างที่สังคมกำหนดและพิจารณาความไม่ยุติธรรมของสังคมที่อยู่ภายใต้อุดมการณ์ปิตาธิปไตย ผู้วิจัยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีเควียร์วิเคราะห์คุณค่าของนวนิยายเพื่อสื่อสารและแสวงหาคำตอบการไม่จำกัดกรอบทัศนคติทางเพศโดยนำต้นทุนและแรงบันดาลใจของการสร้างสรรค์มาจากแบบแผนการแสดงและการบรรเลงดนตรีละครร้องปรีดาลัย บทสำหรับละครร้องเรื่อง เจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไลมีจำนวน 7 ฉากและกำหนดแก่นของเรื่องคือ คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพ ตัวละครที่นำมาใช้ในการเล่าเรื่องจำนวน 4 ตัวละคร โดยเล่าเรื่องผ่านตัวละครเอกคือเจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไล กำหนดให้มีลูกคู่ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องโดยยึดตามโครงสร้างเดิมของบทนวนิยายและตีความตามแก่นของเรื่องที่ผู้ที่วิจัยต้องการสื่อสาร การสร้างสรรค์ดนตรีและการขับร้องผู้วิจัยกำหนดแนวคิดการประพันธ์เพลงสำเนียงแขกโดยศึกษาและวิเคราะห์จากบทเพลงไทยสำเนียงแขกที่ใช้ในโขนละครไทยและนำดนตรีโนรา ดนตรีรองเง็งนำมาใช้เป็นต้นทุนการประพันธ์เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะตัวละคร สถานที่ที่ตัวละครอาศัยอยู่ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้