Abstract:
วิทยานิพนธ์ เรื่อง “สัญวิทยาแห่งตัวละครหญิงในงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยของนราพงษ์ จรัสศรี” มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบและแนวคิดการสร้างงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยเชิงสัญวิทยา รวมทั้งการตีความในเชิงสัญวิทยาเพื่อนำไปสู่การสวมบทบาทความเป็นเพศหญิงด้วยลักษณะเฉพาะตัว จากการศึกษาการแสดงนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ชุด Ballerina : The pathetic creature นางระบำปลายเท้าผู้น่าเวทนา โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ มีการเลือกใช้วิธีดำเนินงานวิจัย ได้แก่ การค้นคว้าข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การชมการแสดงจากสื่อสารสนเทศ นำข้อมูลที่ได้มาศึกษา วิเคราะห์ และสรุปผลเป็นรูปเล่มวิทยานิพนธ์ตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า ผลงานนาฏศิลป์ร่วมสมัยของนราพงษ์ จรัสศรีมีรูปแบบและแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานจากการออกแบบองค์ประกอบในการแสดงแต่ละด้านให้มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งสามารถอธิบายผ่านกระบวนการทางสัญวิทยาจากแนวคิดทั้ง 3 ทฤษฎี ได้แก่ 1)แนวคิดสัญญะแบบทวิลักษณ์ของแฟร์ดิน็องด์ เดอ โซซูร์ ประกอบด้วยการตีความผ่านรูปสัญญะ และ ความหมายสัญญะ 2)แนวคิดสัญญะแบบไตรลักษณ์ของชาร์ลส์ แซนเดอร์ เพิร์ซ ประกอบด้วย สัญญะ วัตถุ และสัญผล 3)แนวคิดสัญญะที่อยู่ในกระบวนการทำงานของมายาคติ ของโรล็องด์ บาร์ตส์ และเมื่อตีความผ่านการสร้างเค้าโครงเรื่อง การจัดวางองค์ประกอบการแสดง ลีลาการเคลื่อนไหว และการนำอารมณ์ความรู้สึกในมุมต่าง ๆ มาเป็นตัวแทนของการสื่อถึงผู้หญิง ส่งผลให้บทบาทการแสดงความเป็นเพศหญิงมีความเด่นชัดมากขึ้น นอกจากนี้พบว่ามีการแฝงหลักธรรมที่ว่าด้วยการเป็นไปตามธรรมดาของโลกเพื่อให้ผู้ชมได้ตระหนักในตอนจบของการแสดง ทำให้เห็นถึงความลุ่มลึกของผู้สร้างสรรค์ผลงานในการใช้ประโยชน์จากสัญญะที่สร้างขึ้น ถือได้ว่าเป็นผลงานแม่แบบในการสร้างผลงานนาฏยศิลป์ร่วมสมัยเชิงสัญวิทยาต่อไป