Abstract:
การผลิตเครื่องปั้นดินเผาในชุมชนภาคอีสาน เป็นอาชีพที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนอีสานมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่มีการผลิตแบบโบราณ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่า โดยในปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในภาคอีสานได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความนิยมต่อการใช้เครื่องปั้นดินเผาในวิถีชีวิตคนในปัจจุบันลดลง เนื่องจากขาดความหลากหลายด้านรูปทรง ทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแต่กลับให้ผลตอบแทนที่ต่ำ จากปัญหาดังกล่าวเป็นโอกาสในการพัฒนารูปทรงของผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาอีสาน เพื่อค้นหาแนวทางพัฒนารูปทรงเครื่องปั้นดินเผาอีสานด้วยกระบวนการออกแบบ และเพื่อสร้างแนวทางการเพิ่มมูลค่าให้กับเครื่องปั้นดินเผาอีสาน โดยการศึกษา และประยุกต์ใช้รูปทรงเครื่องปั้นดินเผาอีสานในอดีต ซึ่งถือเป็นทุนทางวัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy ) โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อันนำไปสู่ความยั่งยืน (Sustainable) โดยผู้วิจัยได้สร้างกระบวนการออกแบบ จากการนำเอกลักษณ์ด้านรูปทรงของเครื่องปั้นดินเผาอีสานในอดีต ที่ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรรม มาประยุกต์ใช้ร่วมกับแนวคิดการรื้อสร้าง (Deconstruction) ที่เป็นแนวทางการพัฒนาสิ่งใหม่บนรากฐานของสิ่งเดิม เชื่อมโยงถึงการพัฒนารูปทรงเครื่องปั้นดินเผาให้มีความร่วมสมัย โดยการสร้างกระบวนการออกแบบเพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชน ด้วยการสร้างคู่มือเพื่อการออกแบบรูปทรงเครื่องปั้นดินเผา โดยผลการใช้กระบวนการออกแบบผ่านการใช้คู่มือ ผู้ผลิตสามารถเข้าใจกระบวนการออกแบบ และสามารถออกแบบรูปทรงที่หลากหลายด้วยตนเอง และยังคงลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาอีสาน แล้วนำแบบรูปทรงที่ได้ออกแบบไปผลิตจริงจากทักษะการผลิต และเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม มีผลการประเมินผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการใช้คู่มือออกแบบรูปทรงจากกลุ่มผู้บริโภค ที่สามารถแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มได้