Abstract:
การดำเนินวิจัยเรื่องการถ่ายทอดดนตรีไทยของศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ผ่านสื่อโทรทัศน์มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติชีวิตและการถ่ายทอดดนตรีไทยผ่านสื่อโทรทัศน์ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหาจากเทปบันทึกรายการจำนวน 2 เทปที่ท่านเป็นผู้ดำเนินรายาการด้วยตนเองและใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ สัมภาษณ์ทายาท ลูกศิษย์ใกล้ชิดและผู้เคยชมรายการ 14 ท่าน ผลวิจัยพบว่าท่านเกิดวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2466 ณ บ้านของท่านที่จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่ 2 ในพี่น้อง 9 คน ตลอดชีวิตของท่านต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน ด้านการงาน ด้านความรัก ตลอดจนการเรียนดนตรี ท่านเริ่มเรียนดนตรีไทยครั้งแรกกับบิดา ต่อมาเรียนซอสามสายกับพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) จนสามารถสีซอสามสายออกอากาศสถานีวิทยุได้ ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2499 ท่านได้มอบตัวเป็นศิษย์ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ท่านได้ศึกษาทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจนสามารถบรรเลงเพลงเดี่ยวขั้นสูงโดยเฉพาะซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ และขลุ่ย นอกจากนี้ท่านยังมีความคิดสร้างสรรค์ประพันธ์บทเพลงไทยประเภทต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและไพเราะเช่น บทเพลงเดี่ยว เพลงเถา เพลงเนื้อเต็ม เป็นต้น อีกทั้งยังรับมอบโองการไหว้ครูสามารถทำพิธีไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลป์ได้ ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ได้ริเริ่มรายการเกี่ยวกับดนตรีไทยผ่านสื่อโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้ชื่อรายการว่า “นาฏดุริยางค์วิวัฒน์” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 จากนั้นเปลี่ยนชื่อรายการมาเป็น “ดร. อุทิศ แนะดนตรีไทย” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นรายการดนตรีไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นจำนวนมากและได้รับการสนัหลังจากนั้นรายการได้ยุติลงเนื่องจากการจากไปของท่านในปี พ.ศ. 2525 จากการศึกษาพบว่าท่านใช้กลวิธี 5 วิธีคือ การดำเนินรายการด้วยสนุกสนานมีคารมคมคาย การพูดหยอกล้อกับนักดนตรี การใช้มุขตลกสอดแทรกไปกับการบรรยายพร้อมกับให้ความรู้ดนตรีไทยและโฆษณาสินค้า การใช้บทเพลงที่หลากหลายอารมณ์ทุกครั้งที่จัดรายการ และใช้ความรู้ ความสามารถ ไหวพริบปฏิภาณดำเนินรายการได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้มีผู้ชมติดตาม สามารถเผยแพร่ความองค์ความรู้ทางดนตรีไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ