Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลบทที่เกี่ยวข้องกับวงปี่พาทย์มอญ คณะพาทยโกศล และศึกษาระเบียบวิธีการบรรเลงวงปี่พาทย์มอญ คณะพาทยโกศลที่ใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผลการวิจัยพบว่าตระกูลพาทยโกศล ผู้มีบทบาทสำคัญ คือ หลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ) และจางวางทั่ว พาทยโกศล วงปี่พาทย์มอญบ้านพาทยโกศล สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยจางวางทั่ว เครื่องมอญเก่าแก่ที่สุดที่มีการสร้างไว้เอง คือ ฆ้องโพธิ์ เอกลักษณ์ของวงปี่พาทย์มอญ คือวงปี่พาทย์มอญชุดเครื่องมุกที่ประดับตราประจำตระกูล “พศ” และฆ้องกระแต ปรากฏในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2551
ระเบียบวิธีการบรรเลง พบว่าเพลงที่ใช้และรูปแบบการบรรเลงเป็นเอกลักษณ์ของบ้านพาทยโกศล ได้แก่ เพลงนาคบริพัตรทางมอญ เพลงช้างประสานงาทางมอญ เพลงพม่าเห่ทางมอญ ซึ่งเป็นเพลง ที่ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ประพันธ์ไว้ ปรากฏพบเพลงในการบรรเลงประโคมทั้งสิ้น 13 เพลง ได้แก่ เพลงประจำบ้าน เพลงยกศพ เพลงพญาขวัญ เพลงพญาโศก เพลงสองไม้เต่าทอง เพลงสองไม้สี่เกลอ เพลงประจำวัดเสียงล่าง เพลงนาคบริพัตรทางมอญ เพลงพม่าเห่ทางมอญ เพลงช้างประสานงาทางมอญ เพลงเขมรทม เพลงจะเด็ด และเพลงมอบเรือ