Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร” ผู้วิจัยได้รับแรงบันดาลใจจากกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร ซึ่งมีระเบียบวิธีการวิจัยแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ และการทดลองเชิงสร้างสรรค์ โดยศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์ สื่อสารสนเทศ การสำรวจข้อมูลจากการสังเกตการณ์ การสัมมนา เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน รวมถึงประสบการณ์ตรงของผู้วิจัย โดยศึกษาเพื่อนำไปสู่รูปแบบการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากกระบวนท่ารำ
อาทมาฏ ดาบพระนเรศวร
ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการสร้างสรรค์สามารถจำแนกตามองค์ประกอบทางด้านนาฏยศิลป์ 8 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง แบ่งเป็น 4 องก์ ได้แก่ คลุมไตรภพ ตลบสิงขร ย้อนฟองสมุทร และหนุมานเชิญธง 2) คัดเลือกนักแสดง ผู้วิจัยคัดเลือกจากผู้ที่มีทักษะนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิม นาฏศิลป์สมัยใหม่และศิลปะการป้องกันจากกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร 3) ลีลาการเคลื่อนไหว มีแนวคิดการออกแบบลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายจากนาฏยศิลป์ไทย และนาฏยศิลป์สมัยใหม่ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร 4) อุปกรณ์ประกอบการแสดงให้ความสำคัญ และได้รับอิทธิพลจากรูปแบบดาบดั้งเดิม 5) เสียงประกอบการแสดง ใช้เครื่องดนตรีไทย 3 ชิ้น ได้แก่ กลองศึก ปี่ใน โหม่ง และเสียงสังเคราะห์ที่แสดงถึงความฮึกเหิมจนถึงความศักดิ์สิทธิ์ 6) เครื่องแต่งกาย ใช้เครื่องแต่งกายแบบชุดไทยประเพณีดั้งเดิม และเครื่องแต่งกายในสังคมปัจจุบัน 7) พื้นที่ในการแสดง ใช้พื้นที่สี่เหลี่ยมแบบเรียบง่ายเพื่อสะดวกในการเปลี่ยนแปลงแบบรูปของการแสดง 8) แสง ใช้สีของแสงเพื่อแสดงอารมณ์และบรรยากาศตามบทการแสดง นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดของหลักการสร้างสรรค์ผลงาน 4 ประการ ได้แก่ 1) แนวคิดชื่อกระบวนท่ารำอาทมาฏ ดาบพระนเรศวร 2) แนวคิดความหลากหลาย 3) แนวคิดสัญลักษณ์ 4) แนวคิดปัญหาทางสังคม ซึ่งผลการวิจัยในครั้งนี้ เป็นไปตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของผู้วิจัยทุกประการ อีกทั้งยังประประโยชน์เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ต่อไปในอนาคต