Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่อง หัวนายแรง ด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้กระบวนการสำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร การสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศ เกณฑ์มาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ และประสบการณ์ของผู้วิจัย จากนั้นนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อศึกษารูปแบบและองค์ประกอบในการแสดง นำมาทดลองและพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ตามกระบวนการที่กำหนดไว้
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า องค์ประกอบของการแสดงทั้ง 7 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง นำแนวคิดมาจากการตีความวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่อง นายแรง 2) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้ลีลาของนาฏยศิลป์ร่วมสมัย นาฏยศิลป์ไทย และนาฏยศิลป์พื้นบ้านภาคใต้ เน้นการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสายตา ร่างกาย และการกระทำ 3) การคัดเลือกนักแสดงใช้นักแสดงที่มีทักษะที่หลากหลายด้าน 4) เสียงและดนตรี ใช้เสียง 4 ประเภท เสียงนักแสดงที่มีบทร้อง เสียงตามความรู้สึก เสียงประกอบการแสดง และเสียงดนตรีประกอบการแสดง 5) ฉาก ใช้การฉายภาพผ่านอุปกรณ์เทคนิคการฉายภาพ คือ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว 6) เครื่องแต่งกาย ออกแบบตามแนวคิดเอกลักษณ์ของบริบทพื้นที่กำเนิดของวรรณกรรมทางภาคใต้ รวมไปถึงขนบ (พิธีกรรม) ธรรมเนียมประเพณี 7) แสง ใช้การสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ ให้สอดคล้องกับการฉายภาพประกอบการแสดง ฉาก อารมณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการแสดง ผสมผสานกับหลักการหักเหของแสง ในการสร้างสรรค์ครั้งนี้ผู้วิจัยคำนึงถึงแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ 5 ประการ คือ 1) แนวคิดที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ที่มาจากวรรณกรรมพื้นบ้าน 2) แนวคิดที่เกี่ยวกับสัญญะในการแสดงนาฏยศิลป์ 3) แนวคิดเกี่ยวกับศิลปะการละครกับการสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ 4) แนวคิดเกี่ยวกับองค์ประกอบทางด้านศิลปกรรม 5) แนวคิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ การวิจัยครั้งนี้ จึงเป็นการรวบรวมและเชื่อมโยงองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ ให้เกิดประโยชน์ต่อวงการวิชาการและวงการนาฏยศิลป์ ตลอดจนเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานของผู้สร้างสรรค์ในอนาคต