Abstract:
การวิจัยเรื่องการออกแบบมาสคอตเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนโดยใช้แนวคิดคาวาอีฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์วิธีการในการพัฒนามาสคอตให้สามารถสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนได้ 2) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการออกแบบมาสคอตให้แสดงออกถึงความคาวาอีได้ 3) เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาสร้างสรรค์และนำเสนอตัวอย่างการออกแบบมาสคอตเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนในประเทศไทยโดยใช้แนวคิดคาวาอี รวมไปถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ ของชุมชนได้ โดยใช้กระบวนการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบมาสคอตเพื่อวิเคราะห์และคัดเลือกมาสคอตท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น (Yuru-chara) ที่มีความคาวาอี ร่วมกับการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างจากเอกสารและหลักฐานเชิงประจักษ์ เก็บข้อมูลจากผู้นำ นักวิชาการในชุมชน และกลุ่มเป้าหมายเพื่อการออกแบบมาสคอต ตลอดจนพัฒนาผลงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ
จากการวิจัยพบว่าด้านวิธีการในการพัฒนามาสคอตเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนนั้นสามารถแบ่งกระบวนการออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การออกแบบรูปลักษณ์มาสคอต 2) การออกแบบองค์ประกอบเสริมมาสคอต 3) การกำหนดบุคลิกภาพลักษณะนิสัยและความสามารถพิเศษ โดยเลือกใช้ประเด็นหรือที่มาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ร่วมของชุมชนร่วมกับการเลือกใช้วิธีการแปลงสารที่เหมาะสมเพื่อให้ได้มาสคอต
ด้านแนวทางทางการออกแบบมาสคอตให้แสดงออกถึงความคาวาอี สามารถดำเนินการออกแบบได้โดยใช้เกณฑ์คุณลักษณะความคาวาอีทางกายภาพ 5 ประการ อันได้แก่ 1) ความน่าเอ็นดูเหมือนเด็ก เช่น ปากเล็ก จมูกเล็ก ดวงตาโต 2) ความเปราะบางหรือน่าทะนุถนอม เช่น การใช้เส้นโค้งมนหรือทรงกลมเป็นหลัก 3) ความมีขนาดเล็ก เช่น การใช้สัดส่วนแบบ S.D. 4) ความไร้เดียงสา เช่น การชูมือ ยกแขนหรือขา 5) ความหวาน เช่น การใช้สีโทนสว่างหรือสีพาสเทลเป็นหลัก
ทั้งนี้ผู้วิจัยได้นำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนามาสคอตเพื่อสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชนโดยใช้แนวคิดคาวาอีจำนวน 3 ชุมชน อันได้แก่ ชุมชนสามแพร่ง ชุมชนวังหลังและวัดระฆัง และชุมชนท่าดินแดง นำไปสู่การคัดเลือกและต่อยอดมาสคอตชุมชนวังหลังและวัดระฆังให้มีความสมบูรณ์ในที่สุด ตลอดจนทดลองออกแบบคู่มือการใช้งาน ผลิตภัณฑ์ที่ระลึก ระบบป้ายสัญลักษณ์ ฯลฯ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนหรือนักออกแบบที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดในชุมชนอื่นๆ ได้ต่อไป