Abstract:
งานจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 เป็นยุคแห่งการรับอิทธิพลของศิลปะแบบตะวันตกหรือศิลปะแบบสัจนิยม ที่มีเทคนิคการเขียนภาพเน้นความเหมือนจริง รวมทั้งมีการเริ่มใช้หลักทัศนียวิทยา หรือหลัก PERSPECTIVE ในการเขียนภาพจิตรกรรม จึงได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลจากภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถและพระวิหารในวัดกลุ่มตัวอย่างในสมัยรัชกาลที่4 และ 5 จำนวน 10 วัด และรัชกาลที่ 6 จำนวน 1 วัด เพื่อศึกษาเปรียบเทียบโดยเฉพาะเรื่องหลักทัศนียวิทยาและพัฒนาการในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
จากผลการศึกษาพบว่า การเขียนภาพจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ แบบที่ 1 จิตรกรรมไทยประเพณีผสมกับแบบตะวันตก มีเทคนิคการเขียนที่เน้นความสมจริงมากขึ้นใช้เส้นนอนแสดงระยะภาพที่ใกล้และไกล และใช้เส้นเฉียงแสดงความลึกของภาพ แบบที่ 2 คือ จิตรกรรมตะวันตกหรือแบบสัจนิยม มีการใช้หลักทัศนียวิทยาในการเขียนภาพจิตรกรรม ซึ่งท่าน ขรัวอินโข่ง เป็นผู้ริเริ่มการเขียนภาพให้มีระยะใกล้ไกลแบบตะวันตก มีแสงเงา มีปริมาตรเป็นสามมิติ และแบบที่ 3 คือ จิตรกรรมไทยประเพณี ซึ่งมีเทคนิคสืบทอดมาจากงานช่างสมัยรัชกาลที่ 3 การเขียนภาพยังเป็นแบบสองมิติ ไม่มีหลักทัศนียภาพที่ชัดเจน ส่วนภาพจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น เป็นยุคที่บ้านเมืองพัฒนา มีชาวตะวันตกเข้ามาทำงานในรัชสมัยนี้ ส่งผลให้การเขียนจิตรกรรมตรงตามหลักทัศนียวิทยาในการเขียนภาพ ภาพมีเส้นนำสายตาและมีจุดรวมสายตาตามหลักวิชาการ
อิทธิพลทางตะวันตกที่ส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจนในงานจิตรกรรมไทยดังกล่าวถือได้ว่า สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นจุดเปลี่ยน เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง และยังส่งผลสืบทอดมายังสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น หากกล่าวในเรื่องการเขียนภาพที่นำหลักทัศนียภาพที่ได้รับอิทธิพลแบบตะวันตกมาใช้ ยุคของรัชกาลที่ 4 และ 5 จึงถือเป็นช่วงยุคสมัยของงานจิตรกรรมไทย ที่มีความน่าสนใจ มีคุณค่าและส่งผลให้เกิดการพัฒนาสู่ยุคต่อมาของงานจิตรกรรมฝาผนังไทย