Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องการแสดงในขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาและรูปแบบการแสดงในขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง และการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม
ผลการวิจัยพบว่า การแสดงในขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2444–2562 เป็นระยะเวลา 118 ปี โดยเริ่มจากการรวมตัวของชาวบ้านแห่นำเทียนพรรษาประกอบการร้องรำทำเพลงไปถวายพระสงฆ์ยังวัดพัฒนามาเป็นการแสดงหมู่เป็นชุด ๆ ในลักษณะขบวนเคลื่อนไปตามเส้นทางบนถนน โดยแบ่งการแสดงออกเป็น 2 ช่วง คือ 1. การแสดงในขบวนแห่เทียนพรรษาภาคกลางวัน จัดแสดงในวันเข้าพรรษา สามารถจำแนกรูปแบบการแสดงออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ การแสดงพื้นบ้านในลักษณะไม่ตายตัว การแสดงพื้นเมืองอีสาน และการแสดงร่วมสมัย 2. การแสดงในขบวนแห่เทียนพรรษาประกอบแสงเสียงภาคกลางคืน มีที่มาจากการนำรูปแบบขบวนแห่เทียนพรรษาภาคกลางวันมาผสมกับการแสดงแสงเสียง จัดแสดงทั้งหมด 2 วัน คือ คืนวันอาสาฬหบูชา และคืนวันเข้าพรรษา เป็นการแสดงรูปแบบพื้นเมืองอีสานประกอบการแสดงเรื่องราว เนื้อหาของการแสดงจะสัมพันธ์กับหัวข้อหลักของการแสดงที่ถูกกำหนดขึ้น การแสดงทั้ง 2 ช่วงนี้จะสะท้อนถึงประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีการดำรงชีวิต การละเล่น โบราณวัตถุ และการเทิดพระเกียรติ ผ่านองค์ประกอบของการแสดง งานวิจัยฉบับนี้นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมเชิงพุทธศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ยังเป็นประโยชน์ทางด้านการสร้างสรรค์การแสดง และด้านการศึกษาทั้งในสถาบันการศึกษาและผู้ที่ศึกษาเชิงวิชาชีพในประเทศไทยต่อไป