Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการประกวดวงกลองยาวโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและรูปแบบการออกแบบสร้างสรรค์การแสดงกลองยาวรูปแบบใหม่จากวงกลองยาวที่เข้าร่วมแข่งขัน โดยการสืบค้นข้อมูลจากหนังสือ เอกสาร และวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้เกี่ยวข้องและการสังเกตการณ์จากวีดิทัศน์การแสดงกลองยาวจากวงที่ผู้วิจัยทำการศึกษาจำนวน 2 วง ได้แก่ วงเอกทันต์รางวัลชนะเลิศปี พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2554 และวงศิวบุตรรางวัลชนะเลิศปี พ.ศ.2557
ผู้วิจัยพบว่า การจัดการประกวดวงกลองยาวโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นการประกวดในรูปแบบของการอนุรักษ์และพัฒนา โดยวงที่เข้าร่วมการประกวดจะต้องสร้างสรรค์การแสดงขึ้นใหม่ ส่งผลให้เกิดการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละวง เป็นการพัฒนารูปแบบการแสดงจากการรำกลองยาวแบบมาตรฐานที่มีแต่เดิม จากการศึกษารูปแบบการแสดงของวงกลองยาววงเอกทันต์และวงศิวบุตรพบว่า ได้มีการนำรูปแบบการสร้างสรรค์ที่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของการรำเถิดเทิงของกรมศิลปากร โดยมีรูปแบบที่โดดเด่นและแปลกใหม่ ดังนี้ 1. การใช้ชื่อวงในการประพันธ์บทร้องเพื่อแสดงเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำต่อผู้ชม 2. มีการต่อตัวและการตีลังกาในการแสดง 3. ใช้ลีลาท่ารำเป็นการผสมผสานของการแสดงในภาคกลางหลายประเภท ได้แก่ รำกลองยาวชาวบ้าน รำเถิดเทิง รำแม่บทเล็ก รำแม่บทใหญ่ การละเล่นลาวกระทบไม้และรำวงมาตรฐาน 4. การใช้รูปแบบการแปรแถวหลักที่พบ 9 แบบ ได้แก่ แถวตอน แถววงกลม แถวปากพนัง แถวหน้ากระดาน แถวครึ่งวงกลม แถวเฉียง แถวตัวเอ (A) แถวตัวดับเบิลยู (W) และแถวตั้งซุ้ม มาสร้างสรรค์เพิ่มเติมโดยการผสมผสานกันทำให้เกิดรูปแบบแถวใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม งานวิจัยนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์การแสดงกลองยาวเพื่อการประกวด อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนหรือกลุ่มคนที่สนใจแข่งขันกลองยาวมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนารูปแบบการแสดงกลองยาวต่อไปอนาคต