Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษา Be@rbrick ในฐานะของสะสม โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกศึกษาทางฝั่งผู้ผลิตในการสร้างมูลค่าเชิงสัญญะให้กับสินค้า โดยใช้แนวคิดของ ฌอง โบดริยาร์ด เนื่องจากการบริโภคของผู้คนยุคนี้ไม่ใช่แค่การใช้หรือเสพสินค้าที่เป็นวัตถุรูปธรรมเท่านั้น แต่มีด้านของการเสพสัญญะอยู่ด้วย โดยมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น กลไกการตลาดเป็นตัวสนับสนุน ส่วนที่สองศึกษาในด้านพฤติกรรมของกลุ่มคนที่สะสม Be@rbrick โดยใช้แนวคิดเรื่องการสร้างความโดดเด่นทางสังคมของ ปีแอร์ บูร์ดิเยอ ที่วิเคราะมิติการบริโภคโดยเน้นที่เรื่องทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม
ผลที่ได้นั้นพบว่าผู้ผลิตใช้การร่วมมือกับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้า ตัวละครจากภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่นเฮ้าส์ งานศิลปะ และวัฒนธรรมประชานิยมที่ได้รับความนิยมและมีคุณค่าสูงต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว โดยนำความรับรู้ของผู้บริโภคต่อสินค้าเหล่านั้น มาใช้ออกแบบลวดลายบน Be@rbrick เป็นการใช้กระบวนการเข้ารหัสให้กลายเป็นสัญญะต่าง ๆ เช่น สัญญะของความหรูหรา สัญญะด้านความทรงจำที่ประทับใจในอดีต สัญญะด้านการฉลองวาระพิเศษ เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ของตน โดยใช้กลไกการตลาดและการสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์เป็นส่วนเสริม ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่วนในด้านนักสะสมพบว่านักสะสมใช้ Be@rbrick เพื่อสร้างตัวตนโดยการแสดงอัตลักษณ์อันหลากหลายผ่านกิจกรรมการบริโภค นอกจากนี้การสร้างชุดสะสม Be@rbrick ยังสามารถสะท้อนถึงระดับของทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรมที่มีของเจ้าของชุดสะสม โดยทุนทางเศรษฐกิจที่สูงจะส่งผลต่อจำนวนชิ้นและมูลค่าของชุดสะสม ทุนทางเศรษฐกิจที่น้อยลง ขนาดและมูลค่าของชุดสะสมก็จะลดน้อยตามไปด้วย ในขณะเดียวกันทุนทางวัฒนธรรมก็จะทำหน้าที่ในการเพิ่มคุณค่าของชุดสะสม ทุนทางวัฒนธรรมที่มากกว่าย่อมจะส่งเสริมให้นักสะสมสามารถใช้ความรู้ที่มีในการคัดเลือกชิ้นงานของสะสมให้ประกอบขึ้นเป็นชุดสะสมที่มีคุณค่ามากขึ้นตามทุนทางวัฒนธรรมที่มีของตน